วันเสาร์ที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2556

พ่อค้าปลาทับทิม


เมื่อครั้งก่อน ชำนาญ ณ.อันดามัน เป็นพ่อค้าลองกอง ได้สัมผัสและเรียนรู้วิธีการ การเป็นพ่อค้าประเภทนำสินค้าจากแหล่งผลิตหรือต้นกำเนิดไปยังผู้บริโภคหรือลูกค้า คือไปซื้อลองกองจากสวนมาขายเอง ตามตลาดนัด

มาครั้งนี้ ชำนาญ ณ.อันดามัน ได้ไปสัมผัสและเรียนรู้วิธีการ การเป็นพ่อค้าคนกลาง สินค้าประเภทปลาสด คือการไปซื้อปลาสดจากแหล่งผลิตหรือจากกระชังเลี้ยงปลา เอามาขายส่งให้แม่ค้าขายปลีกอีกทอด โดยไม่ต้องไปขายปลีกเอง ขั้นตอนและเรื่องราวเป็นอย่างไร เชิญติดตามต่อไปครับ

ตามประสาคนที่มีเวลามาก(ยังไม่ถึงเวลาเปิดทัวร์) เอาเป็นว่าเป็นคนตกงานอะไรประมาณนั้น จึงได้เที่ยวตะลอนๆ ซอกๆซอนๆ ไปพบปะเพื่อนฝูงเก่าๆ ที่ประกอบอาชีพต่างๆกัน บอกกันตรงๆว่าจะหาข้อมูลดิบๆ เอามาเขียนเรื่องดิบๆ(เผื่อว่าท่านๆอยากอ่านบ้าง) เพื่อสนองตัณหาดิบๆให้ตัวเองก็เท่านั้น ไม่มีอะไรมาก

ในเมื่อมีเจตนาหรือตั้งใจจะค้นหา มันก็ต้องเจอจนได้ โดยไม่ต้องใช้ความพยายามมากมาย ค้นไป หามา คราวนี้เจอเพื่อนเก่า เกลอแก่ สมัยที่ทำงานบริษัททัวร์ด้วยกันเมื่อสิบกว่าปีก่อนนู้น เกลอลาออกมาก่อนผมหลายปี ด้วยความคิดที่ว่าเป็นลูกจ้างชีวิตไม่รุ่ง ประมาณนั้น ก็เลยออกมาซื้อรถเก๋ง วิ่งรับ-ส่งนักท่องเที่ยวระหว่าง สนามบินภูเก็ต ไปส่งตามโรงแรมบนหาดต่างๆ ในเกาะภูเก็ต หรือแล้วแต่ว่านักท่องเที่ยวจะว่าจ้างให้ไปส่งที่ไหน ถ้าราคาเป็นที่พอใจ ไม่ปฏิเสธ เพราะไม่มีสังกัด จัดอยู่ในประเภทแท็กซี่ผี อะไรทำนองนั้น

เกลอประกอบอาชีพนี้มาจนกระทั่งรถพังไป 3 คัน(มันเคยขับของผมพังคาตีนไปคันหนึ่งด้วย) โดยการแหกโค้งบ้าง ชนเกาะกลางถนนบ้าง แต่ตัวมันเองรอดมาได้ทุกที ไม่เคยบาดเจ็บสักครั้ง(ผมไม่เคยเห็นมันห้อยพระเครื่อง) จนครั้งสุดท้าย ออกป้ายแดงแจ๋ มาได้ประมาณ 15 วัน และเมื่อขากลับจากขับมาอวดผมที่บ้าน มันอัดเอาเสาไฟฟ้าพังยับไปทั้งคัน(ตัวมันรอดอีก) คราวนี้มันถึงคิดได้ว่า ถึงเวลาที่จะต้องเปลี่ยนอาชีพได้ซะที เพราะที่ทางสวนของแม่มัน หมดไปหลายแปลงแล้ว

แนะนำกันหน่อย เพื่อนผมคนนี้ ชื่อสำราญ หรือเจ้าราญ(เรียกแบบคนสุราษฎ์ฯ) แต่ผมเรียกมันว่า “ไอ้ผี” (เพราะรูปร่างของมันผอมแห้งเหมือนผีจริงๆ) ติดปากมาตั้งแต่ทำงานด้วยกันที่บริษัททัวร์ ส่วนถิ่นถานบ้านเกิดเมืองเดิม ก็เป็นคน อ.พุนพิน สุราษฎร์ธานี มาอยู่ภูเก็ตหลายปีดีดักเหมือนผม

หลังจากเลิกเป็นโชเฟอร์ แท็กซี่ผี ไม่กี่เดือน มันจึงได้หันเหชีวิตมาประกอบอาชีพ เป็น “พ่อค้าปลาทับทิม” จนพอเป็นที่รู้จักกันในวงการพ่อค้า แม่ค้า และผู้เลี้ยงปลาทับทิม ทั่วไปในชื่อว่า “โกก้อง ปลาทับทิม” รู้สึกว่าตัวมันเอง จะพอใจกับฉายานี้ไม่น้อย และผมก็ต้องจำใจเรียกมันว่า “โกก้อง” แทน “ไอ้ผี”ตามที่มันขอร้องแกมบังคับ

เมื่อวันหนึ่ง ผมซอกแซกไปหา ไอ้ผี เอ็ย..โกก้อง ที่บ้านของมัน แล้วบอกจุดประสงค์ของผมว่าจะขอไปดูการซื้อปลาทับทิมกับมันด้วย เพื่อจะได้เอาข้อมูลมาเขียนลงอินเทอร์เน็ท จะขัดข้องหรือไม่

มันตอบตกลงด้วยความยินดีและบอกกับผมว่าให้เขียนถึง “โกก้อง ปลาทับทิม” มากๆ มันจะได้ดังซักที แล้วก็เปิดโอกาสให้ผมทันที่ว่า วันพรุ่งนี้ถึงรอบวันที่มันจะไปซื้อปลาพอดี ถ้าผมพร้อมจะไป มันจะขับรถไปรับผมที่บ้าน ผมตอบตกลงทันทีเหมือนกัน แล้วต่อจากนั้นมันก็เลี้ยงดูปูเสื่อผมเป็นการใหญ่ โดยมีปลาทับทิมตัวเขื่องๆ ทอดขมิ้นเป็นกับแกล้มจนหมดไปหลายตัว ผมจึงได้กลับบ้าน

วันรุ่งขึ้น โกก้อง มารับผมที่บ้าน ประมาณเที่ยง ตามนัด เพื่อไปกระชังเลี้ยงปลาที่ อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี โดยใช้เส้นทาง ภูเก็ต-พังงา-ทับปุด-เขาต่อ-สามแยก อ.พนม-บ้านตาขุน –ผ่านสามแยกเข้าเขื่อนเชี่ยวหลาน(รัชประภา) ที่จุดนี้ โกก้อง แวะซื้อน้ำแข็งก้อนใหญ่ๆ เอาใส่ในถุงผ้าใบบนกระบะท้ายรถ ที่แยกเป็น 2 ถุงสำหรับไว้ใส่ปลาเป็นๆ โดยแบ่งน้ำแข็งใส่ในถุง ถุงละ 3 ก้อน เอ๊ะ..ท่านผู้อ่านอาจจะสงสัยว่าด้วยเหตุผลอันใด?ทำไมจึงต้องใส่น้ำแข็ง? ก็ในเมื่อไปซื้อปลาตัวเป็นๆ ไม่ได้ซื้อปลาตาย จะเอาปลาตัวเป็นๆแช่น้ำแข็งรึ? ต้องเพี้ยนแน่ๆ

ไม่ได้เพี้ยนครับ มันมีเหตุผล ที่ผมก็เพิ่งรู้ครับท่านผู้ชม แล้วจะเล่าให้ฟัง


ถุงผ้าใบ พร้อมด้วยน้ำแข็งที่เตรียมไว้แช่ปลาเป็นๆ

ไม่กี่นาทีต่อจากนั้น เราก็ออกเดินทางต่อ ไปบนถนนสายสุราษฎ์ๆ ถึงบ้านบางเดือน เลี้ยวซ้ายเข้าซอยไปประมาณ 3 กม.จนถึงคลองพุมดวง ในเขต อ.พุนพิน

โกก้อง ขับรถเข้าไปจอดที่จุดแรก เจ้าของกระชังพาเราไปดูปลาที่เลี้ยงไว้ใน

คลองพุมดวง แต่ปรากฏว่าปลายังตัวเล็กไม่ได้ขนาด โกก้อง จึงปฏิเสธที่จะซื้อ ซึ่งก็ทำเอาผู้หญิงเจ้าของกระชังเลี้ยงปลา แสดงความผิดหวังอย่างมาก คะยั้นคะยอให้ โกก้อง ช่วยซื้อให้ได้ เพราะเหตุผลว่า ผัวแกผ่าตัดสมองอยู่ที่โรงพยาบาล แกมีความจำเป็นต้องใช้เงิน แต่เหตุผลของ โกก้อง ก็จำเป็นเหมือนกัน เพราะว่าถ้าซื้อไปแล้ว ขายไม่ได้ก็เจ๊ง

เราจึงจำใจออกจากกระชังนั้นมาด้วยความเห็นใจ เพื่อไปดูกระชังถัดไป


กระชังทีมีปลาขนาดพอจับได้

เราไปถึงจุดที่สอง ไม่ห่างจากจุดแรกมากนัก อยู่ในคลองพุมดวงเหมือนกัน จุดนี้ ปลามีขนาดเดียวกันทั้งกระชังอยู่ในเกณฑ์ดีมาก โกก้อง ตกลงบอกให้จับทันที 300 กก.ในราคา กก.ละ 73 บาท

โกก้อง จัดการเอาน้ำใส่ลงในถุงผ้าใบท้ายรถ(ที่ยังมีน้ำแข็งก้อนใหญ่ๆ) พร้อมทั้งติดเครื่องทำอ๊อกซิเจน เตรียมไว้รอรับปลา ที่กำลังจับ


วิธีการจับปลา

วิธีการจับปลา จะใช้สวิงที่มีด้ามยาวพอประมาณช้อนตักปลาจากกระชังขึ้นมาใส่ตะกร้าที่มีอวนตาข่ายรองไว้อีกที เมื่อตักได้เต็มตะกร้า จึงลำเลียงด้วยการชักรอกมาขึ้นตาชั่ง ซึ่งจะมีน้ำหนักประมาณ 35-45 กก.ต่อ 1 ตะกร้า ต่อจากนั้นก็ยกไปใส่ในถุงผ้าใบบนกระบะท้ายรถ เป็นอันจบกระบวนการ แต่จะต้องรีบทำ ไม่ยังงั้น ปลาขาดอากาศนานๆ พาลตายเกลี้ยง


เครื่องชักรอกแบบภูมิปัญญาชาวบ้าน

ทีนี้ มาดูข้อมูลการเลี้ยงปลาทับทิมและปลานิลจิตรลดากันพอสังเขป ขณะรอเวลาพวกนั้นจับปลา

หมายเหตุ....ปลาทับทิม มีสีแดงชมพู ส่วนปลานิลจิตรลดา มีสีดำ ส่วนใหญ่เกษตกรจะเลี้ยงปลาทับทิม ประมาณ 60% ปลานิลจิตรลดา 40%

สิ่งแวดล้อมหรือสถานที่ ที่เหมาะกับการเลี้ยงปลาทับทิมและปลานิลจิตรลดา ต้องเป็นแม่น้ำหรือลำคลองที่มีน้ำลึก ยิ่งลึกมากยิ่งดีและน้ำไหลตลอดเวลา(แต่ไม่เชี่ยวมาก)เพราะน้ำจะได้สะอาดและมีอ๊อกซิเจนเพียงพอ สำหรับปลา

ต่อจากนั้นผู้เลี้ยงจะต้องสร้างกระชัง(ไม่ขออธิบายวิธีการสร้างกระชัง นายชำนาญกลัวได้ ดร. อิอิ) ขนาดประมาณ 5x5 เมตร ผูกไว้ริมแม่น้ำ เพื่อสะดวกต่อการดูแลรักษาและให้อาหาร จะสร้างกี่กระชังก็ได้ตามกำลังทุนที่มี

แล้วก็ไปหาซื้อลูกปลาทับทิมหรือปลานิลจิตรลดา(ในเครือCPเขาอนุบาลไว้เยอะแยะ) ประมาณอายุ 45-60 วัน น้ำหนักตัวปลาซัก 20-30 ตัว ต่อกิโลกรัม ราคาตัวละ 4 - 4.50 บาท(ราคาขึ้นอยู่กับทิศทางลม) เอามาใส่ในกระชัง กระชังละสัก 2,000 ตัวเห็นจะได้ ส่วนใหญ่เขาเลี้ยงกัน 10 กระชังขึ้นไป ทีนี้ลองเอา 2,000 คูณ 4 ดูแล้ว บรือๆๆๆ ก็ไม่เบา

ต่อจากนั้นก็คอยให้ข้าว ให้น้ำ เอ๊ย...ให้อาหาร(ของปลา) และคอยเฝ้าระวังอย่าให้ได้รับภัยอันตรายใดๆทั้งปวง รวมไปถึงไอ้พวกโจร กก.ละ 73 บาทด้วย พร้อมทั้งพยายามนับเวลาให้ถึง 120-150 วันเร็วๆ เข้าไว้

จนกระทั่งพวกหนูๆเหล่านั้น มีน้ำหนักตัวละ ประมาณ 8 ขีดขึ้นไป( ซึ่งกำลังกินจุ)จึง รีบโทรหาพ่อค้าคนกลางมาจับเอาไปโดยเร็ว ขืนชักช้าพวกมันชวนกันกินทั้งวันทั้งคืน คนเลี้ยงหมดตัวแน่ หรือไม่งั้น วันดีคืนดี พวกมันก็ชวนกันพร้อมใจตายยกเล้า

เมื่อพวกพ่อค้า แม่ค้าคนกลาง มาจับไปหมดแล้ว เราก็จัดการทำความสะอาดกระชังทิ้งไว้ซัก 1 อาทิตย์ แล้วค่อยไปหารุ่นน้องมาใส่กระชังไว้อีก ทำวนเวียนอยู่แบบนี้จะได้ ปีละ 3 ครั้ง ถ้าไม่ม้วนเสื่อเสียก่อนด้วยเหตุผลว่ามันชวนกันตายยกเล้า เพราะน้ำเน่าจากโรงงานหรือสาเหตุประการใดๆก็ตาม ไม่เกิน 2 ปี ท่านจะได้ขับ โฟร์วีล 4 ประตู ป้ายแดงแน่ๆ

เป็นยังไงครับท่านผู้ชม ฟังแล้วรู้สึกอยากบ้างไหมครับ? ฮิ ฮิ ถ้าอยากก็ไปหาซื้อที่แถวๆสวนผึ้ง เอ๊ย เอ๊ย...แถวๆริมแม่น้ำตาปี (บ้านท่าน “เทพเทือก”) ลองเลี้ยงดู เผื่อว่าถ้าดวงสมพงศ์กับสัตว์น้ำ ไม่กี่ปีเป็นเศรษฐีปลาทับทิมขึ้นมา แล้วอย่าลืมชำนาญ ณ.อันดามัน ก็แล้วกัน ฮา ฮา..

ประมาณครึ่งชั่วโมง กระบวนการจับปลา เสร็จเรียบร้อย โกก้อง จ่ายเงินให้เจ้าของกระชัง (จ่ายสดงดเครดิต) แล้วเราก็รีบออกมาจากที่นั่น เพื่อไปให้ถึงร้านขายน้ำแข็ง ก่อนที่อุณหภูมิของน้ำในถุงผ้าใบจะสูงมากเกินไป จากฟองอากาศที่มาจากเครื่องทำออกซิเจน

ถึงบางอ้อ หรือยังครับว่าทำไมต้องเอาน้ำแข็งแช่ปลาเป็นๆ ขนาดว่าตลอดเส้นทางจาก กระชังปลา กว่าจะถึงภูเก็ต ต้องแวะซื้อน้ำแข็งเติมถึง 3 ครั้ง แต่ก็ยังมีปลาตายไป 10 กว่าตัว

คืนนั้น เรากลับมาถึงบ้าน โกก้อง เกือบ 4 ทุ่ม จัดการถ่ายปลาจากรถลงไว้ในบ่อพัก รอวันรุ่งขึ้น จะได้นำไปส่งให้แม่ค้าตามตลาดสดและร้านอาหารต่างๆที่เป็นลูกค้าประจำ

เกือบเที่ยงคืน โกก้อง จึงได้มาส่งผมที่บ้าน

ชมคลิปวีดีโอ


เป็นยังไงครับ ท่านผู้ชม พอจะได้สาระบ้าง ไม่มากก็น้อยน่ะครับ
แล้วพบกันใหม่ โอกาสหน้าครับ สวัสดี
ชำนาญ ณ.อันดามัน

หมายเหตุ...ติดต่อโกก้อง โทร 089-2891532