วันจันทร์ที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2554

ชีพจรลงเท้าเฒ่าอันดามัน/น้ำยืน-ภูมิซรอล(ช่วงเช้า 18 ก.ค.54)

              
                ตอนที่ผ่านมาเล่ามาถึงเมื่อออกมาจากปราสาทเขาพนมรุ้งเวลาก็เย็นมากแล้ว และยังเสียเวลากับการหลงทางจนกระทั่งมืด จึงได้มาถึงอำเภอน้ำยืน..ติดตามเรื่องราวต่อไปครับ...
                คืนวันที่ 17 ก.ค.54 กว่าพวกเราจะฝ่าความระทึกมาถึงบ้านพ่อของหลานสะใภ้ ที่ อ.น้ำยืน อันเป็นเป้าหมายในวันที่สองของการเดินทาง ปาเข้าไปเกือบ 4 ทุ่ม
            พวกเราได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจาก พ่อ-แม่ของหลานสะใภ้ และญาติๆ บ้านใกล้เรือนเคียง ซึ่งมาชุมนุมรอต้อนรับกันอยู่หลายคน ต่างก็แสดงความยินดี ทักทายปราศรัย เปี่ยมด้วยไมตรีจิต ตามอุปนิสัยพื้นเพของคนภาคอีสาน ที่สร้างความประทับใจให้กับผู้ไปเยือนอย่างไม่รู้ลืมเสมอ และก็เป็นธรรมเนียมปฏิบัติ ที่จะต้องมีเหล้า โซดา น้ำแข็ง ลาบ ก้อย ข้าวเหนียว ประกอบการสนทนาพาที ประสานไมตรี ในสถานะแขก วีไอพี จากภูเก็ตเมืองไข่มุกอันดามัน ที่ใครๆต่างใฝ่ฝัน จะได้ไปสัมผัสลิ้มรสชาดน้ำทะเลสักครั้งว่ามันเค็มดั่งที่เล่าลือหรือไม่?...
            กระทั่งหลังเที่ยงคืนอ่อนๆ ผู้เยือนเว้าลาว ผู้เหย้าแหลงใต้ อ้อแอ้ งึกงึก งักงัก กันพอสมควร จึงได้แยกย้ายกันเมื่อเฮือนไผ เฮือนมัน ตามอัธยาศัย
            เช้าวันรุ่งขึ้น ผมตื่นตั้งแต่ ตีห้าตามนิสัย เข้าห้องน้ำเสร็จ นั่งจิบกาแฟที่หน้าบ้าน ซึ่งทางผู้เหย้าตื่นตอนไหนก็ไม่รู้ ได้จัดเตรียมไว้ให้ อย่างรู้หน้าที่ของผู้เหย้าที่ดี และนั่งซดกาแฟเป็นเพื่อน สนทนากันตามประสาหนุ่มเหลือน้อยด้วยกัน
กระทั่ง แสงทองส่องฟ้า สกุณาโบยบินออกจากรวงรัง เหล่าผู้มาเยือน ต่างทยอยออกมานั่งร่วมวง เสวนา สูดอากาศบริสุทธิ์ ผสมกลิ่นอายต้นไม้ ใบหญ้า ของบ้านป่าชนบท
ผมออกเดินสำรวจตรวจตรา อาณาบริเวณ ด้วยความแปลกตา ตื่นใจกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งแตกต่างจากถิ่นอาศัยของตนเองอย่างสิ้นเชิง
รอบๆบริเวณบ้านหรือริมรั้วบ้าน เจ้าของบ้านจะปลูกแก้วมังกรไว้เกือบทุกบ้าน นับว่าเป็นได้ทั้งไม้ผลและไม้ประดับไปในตัว เพราะดอกและผลของเจ้าแก้วมังกรนั้น มีสีสันสวยงามมากทีเดียว
หลังจากดื่มด่ำกับธรรมชาติ  อิ่มเอมกับไอดิน กลิ่นน้ำค้าง จนเป็นที่พอใจ พวกเราจึงได้รวมหัวกันวางแผนการถึงโปรแกรมของวันนี้ ที่จะลุยระทึกกันต่อไป.

แก้วมังกร ริมรั้วบ้าน
 
ดอกแก้วมังกร
 
ผลของแก้วมังกรที่พร้อมจะกินได้

จากการประมวลสถานการณ์และจากข้อมูลของผู้เหย้า จนได้ข้อสรุปว่าพวกเราจะลองเสี่ยงระทึก ไปยังผามออีแดง และเขาพระวิหาร ที่อยู่ไม่ไกลจากที่พักมากนัก ซึ่งเราต่างก็รู้กันดีว่ากำลังมีปัญหา เพราะเมื่อวาน (วันที่ 17 ก.ค.) ศาลโลกตัดสินให้คู่กรณีทั้งสองประเทศถอนทหารออกไปจากแนวเขตพื้นที่พิพาททั้งสองฝ่าย ซึ่งทำให้สถานการณ์บริเวณนั้นตึงเครียดขึ้นอีกครั้ง อันจะทำให้ยากต่อพวกเราที่จะเข้าไปในเขตพื้นที่ แต่เมื่อดั้นด้นมาด้วยระยะทางกว่าพันกิโลเมตร ต้องลองซักตั้ง เข้าได้หรือไม่ได้ก็อีกเรื่องหนึ่ง
ประมาณ 7 โมงเช้า ของวันที่ 18 ก.ค.54 พวกเรา 6 คนกับผู้เหย้า 2+1หลาน ก็ขึ้นรถออกจากบ้าน มุ่งหน้าไป ยังเป้าหมายแรก ในตลาดอำเภอน้ำยืน ซึ่งห่างออกไปประมาณ 20 กิโลเมตร
บนถนนดินลูกรังเป็นบางช่วงบางตอนและคอนกรีตเป็นบางช่วงบางตอน สองข้างทางเราผ่านทุ่งนา ผ่านสวนลำไย สวนยางพารา สวนเงาะ สวนแก้วมังกร ไร่มันสำปะหลัง ไร่อ้อย สารพัดสาระเพ สวนและไร่ หลากหลายมากมาย มองดูอุดมสมบูรณ์ เขียวชอุ่มตลอดเส้นทาง 20 กิโลเมตรนั้น
นับว่าเป็นดินแดนที่อุดมสมบูรณ์อย่างแท้จริง เพราะสามารถปลูกพืชทุกชนิดให้มีผลผลิตได้ตามความต้องการ
เท่าที่ผมสังเกตสองข้างทาง มีบ้านหลังใหญ่แบบแปลนทันสมัยหรูๆตลอดเส้นทาง หากแต่ไม่ค่อยเห็นมีคนอยู่ จะเห็นเฉพาะคนสูงอายุและเด็กเล็กเป็นส่วนใหญ่ ผมสอบถามจากสหายผู้เหย้าได้รับคำตอบว่า คนหนุ่มสาวส่วนใหญ่ไปทำงานในกรุงเทพฯ หรือเมืองใหญ่ๆ เพื่อหาเงินส่งกลับมาให้พ่อแม่ใช้จ่าย พร้อมกับส่งหลานมาให้เลี้ยงเป็นของแถม บ้านทุกหลังจึงเห็นเฉพาะเด็กและคนสูงวัย
สำหรับเรือกสวน ไร่นา คนอยู่บ้านก็ทำกันไปตามกำลังที่มี ลงแขกบ้าง จ้างกันเองบ้าง จ้างคนต่างด้าวบ้าง ตามสถานการณ์และความเหมาะสม

ซ้ายมือสวนลำใยและเงาะ-ขวามือสวนยางพารา

สวนยางพาราริมถนน อีกไม่เกิน 3 ปีก็กรีดได้

 
สวนแก้วมังกรที่มีบ้านหลังใหญ่อยู่ภายใน

เกินครึ่งชั่วโมง เราจึงออกมาถึงสามแยกถนนสายหลัก แยกซ้ายตะวันออกเป็นถนนเลียบชายแดนไปอำเภอนาจะหลวยและด่านชายแดนช่องแม็ก เราแยกขวาเข้าตัวตลาดอำเภอน้ำยืน ผ่านย่านชุมชนซึ่งบรรยากาศยามเช้ายังเงียบเหงา ไม่พลุกพล่าน มุ่งหน้าไปยังหมู่บ้านภูมิซรอล ตามป้ายทางหลวงบอกระยะทางประมาณ 20 กว่ากิโลเมตร ซึ่งอยู่บนถนนสายที่มาจากอำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ ตรงไปยังผามออีแดงและเขาพระวิหาร อันเป็นเส้นทางเลียบชายแดนประเทศเขมร

สามแยกน้ำยืน-นาจะหลวย

บรรยากาศในตัวอำเภอน้ำยืน ยามเช้า

ถนนสาย น้ำยืน-ภูมิซรอล

บนถนนสายน้ำยืน-ภูมิซรอล สองข้างทาง ผ่านทุ่งนา ป่าทึบ สลับกันเป็นระยะ ผ่านหมู่บ้าน ชุมชนเล็กๆ โรงเรียน วัด ซึ่งแต่ละสถานที่จะมองเห็นหลุมหลบภัยเล็กบ้าง ใหญ่บ้างอยู่ภายในบริเวณ ผ่านป้อมยามร้างและด่านตรวจของทหารที่ไม่ได้เข้มงวดกวดขัน ในการตรวจตราเท่าที่ควร

โรงเรียนภูมิซรอลวิทยา ใกล้หมู่บ้านภูมิซรอล
  
หลุมหลบภัยภายในโรงเรียนภูมิซรอลวิทยา

 
บนถนนสายน้ำยืน-ภูมิซรอล เห็นเขาพระวิหารได้ชัดเจน

ด่านตรวจของทหารบนถนนสาย น้ำยืน-ภูมิซรอล

ป้อมยามร้าง ไม่ทราบสาเหตุ

กระทั่งถึงสามแยกถนนสาย อำเภอกันทรลักษ์-เขาพระวิหาร เราแยกซ้ายตรงไปยังผามออีแดงและเขาพระวิหาร ระยะทางประมาณ 10 กว่ากิโลเมตร ตามป้ายทางหลวง

ถนนสาย กันทรลักษณ์-เขาพระวิหาร

อีก 3 กิโลเมตร จะถึงแยกซ้ายเข้าผามออีแดง เราก็เจอเข้ากับด่านตรวจของทหาร เป็นด่านแรกบนถนนสายนี้ เจ้าน้องชายชะลอความเร็วรถ ค่อยๆขับช้าๆตรงไปที่แผงกั้น ขาว แดง ทำท่าจะขับผ่านเข้าไป...อีก 5 เมตรจะถึง ปรากฏว่ามีทหารถือปืนเอ็ม16 กระโดดออกมายืนขวางหน้ารถ ทำหน้าเหมือนยักษ์วัดพระแก้ว..เจ้าน้องชายเหยียบเบรกฉึก.. ทุกคนที่นั่งในรถหัวทิ่มตามๆกัน

ด่านตรวจขาเข้าของทหาร บนถนน ภูมิซรอล-เขาพระวิหาร

ด่านตรวจ ขาออก

ประมาณอึดใจ นายทหารที่นั่งอยู่ในเต็นท์ก็เดินออกมาช้าๆ หยุดยืนมองมาที่รถเรา ทำหน้าตาท่าทางสงสัยอย่างมากมาย ประมาณว่าบุคคลในรถเป็นใคร ยิ่งใหญ่มาจากไหน จึงได้บังอาจจะขับรถฝ่าด่านเข้าไป โดยไม่ได้เกรงใจปืนเอ็ม16บ้างเลยหรือไร!?..
จึงเป็นหน้าที่ของผมสิครับพี่น้อง ที่จะต้องเป็นหน่วยกล้าตาย ลงจากรถเข้าไปเจรจากับนายทหารคนนั้น
ผมกล่าวสวัสดีทักทาย แล้วบอกกับนายทหารผู้นั้นว่า คณะของผมมาจากภูเก็ตและมีความประสงค์จะเข้าไปเที่ยวชมผามออีแดงหรือไปแค่หน้าด่านทางขึ้นเขาพระวิหารก็ได้ เพราะเราทราบดีว่าขึ้นไม่ได้.
นายทหารท่านนั้นพูดกับผมด้วยน้ำเสียงแบบทหารขณะกำลังปฏิบัติหน้าที่ (คิดว่าหลายคนคงเคยได้ยินมาบ้าง) ว่า..ตอนนี้ไม่อนุญาตให้ใครเข้าไป เพราะสถานการณ์กำลังตึงเครียด เกรงจะไม่ปลอดภัย
ผมดูท่าทางแล้วคงจะไม่ยอมแน่ๆ จึงควักบัตรสื่อมวลชนของผมให้ดู กะว่าคงจะได้รับความสะดวกให้ผ่านได้!..แต่..ที่ไหนได้!!..ถ้าเป็นเก้าเก ผมคงถูกกินหมดหน้าตัก..
เมื่อคุณทหารเห็นบัตรของผม กลับโบกมือพัลวันแล้วรีบพูดว่า “โอ๊ย!!!. แบบนี้ยิ่งไม่ได้ใหญ่เลยครับคุณ และถึงผมจะปล่อยให้พวกคุณเข้าไป ด้านในยังมีอีกหลายด่าน เขาคงไม่ยอมหรอก ยิ่งรู้ว่าคุณเป็นผู้สื่อข่าวด้วย เขาจะไม่ยอมเด็ดขาด”
“ทำไมล่ะครับ?” ผมถามอย่างข้องใจ
“เราดูแล คุ้มครองพวกคุณไม่ได้หรอก ถ้าเกิดพวกคุณเป็นอะไรไป พวกเราเละกว่าโดนลูกปืนใหญ่ของเขมรแน่ๆ” เขาแจงเหตุผลกับผม
“แค่ผามออีแดง ก็ไม่ได้หรือ?” ผมต่อรอง
“ข้ามด่านนี้ไปก็ไม่ได้ครับ” เขาพูดแบบปิดประตูตายสนิท ผิดกับตอนแรกที่ยังไม่เห็นบัตรของผมซะอีก ซวยเพราะบัตรผู้สื่อข่าวจริงๆ.. รู้งี้!..ไม่ควักออกมาให้เสียหน้าหรอก เซ็งเป็ด..
ผมถอดใจ บอกขอบคุณ ตะเบะมือลา แต่ไม่ลืมขออนุญาตถ่ายรูปได้ 2 รูป ก่อนเดินกลับมาขึ้นรถและบอกให้น้องชายหันหัวกลับ ด้วยความผิดหวัง
เราย้อนกลับมาและแวะเข้าไปดูหลุมหลบภัย ภายในโรงเรียนบ้านภูมิซรอล ซึ่งสร้างไว้ด้านหลังของโรงเรียน มีทั้งหลุมเล็กและหลุมใหญ่หลายหลุมทีเดียว เท่าที่ผมสังเกตไม่น่าจะแข็งแรงพอที่จะทนทานต่อแรงระเบิดจากกระสุนปืนใหญ่ของเขมรได้ ไม่รู้จะสร้างไว้ทำไม..
ภายในบริเวณโรงเรียนบางจุด ยังพอสังเกตเห็นร่องรอยความเสียหายจากกระสุนปืนใหญ่ของทหารเขมรที่ยิงถล่มเอาเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา

โรงเรียนบ้านภูมิซรอล บนถนนภูมิซรอล-เขาพระวิหาร
  
หลุมหลบภัยขนาดใหญ่หลังโรงเรียน

 
ขนาดปานกลาง น่าเข้าไปนั่งเล่น

ขณะที่พวกเรา กำลังแอ็คชั่นถ่ายรูปกับหลุมหลบภัยกันเพลินๆ มีชาวบ้านจากหลังโรงเรียนเดินมาบอกว่าให้พวกเรารีบกลับออกไปเถอะ เพราะอาจจะมีการยิงกันเกิดขึ้นในอีกไม่ช้าไม่นานนี้ ซึ่งอาจจะโดนแจ๊กพ๊อตลูกหลงเข้า แล้วจะเศร้ากันทุกคน
เริ่มระทึกล่ะซี..ได้ยินยังงั้นแล้ว จะรอถ่ายรูปลูกปืนใหญ่ของเขมรอยู่รึ..พวกเรารีบขึ้นรถ เผ่นสิครับพี่น้องชาวไทย...พอออกมาขึ้นถนนใหญ่ได้ก็กดคันเร่งจนล้อหมุนแทบไม่ทัน ฮา ฮา ฮา...
อีกไม่กี่นาทีต่อมา เรามาถึงสามแยกชุมชนหมู่บ้านภูมิซรอล เลี้ยวขวาเข้าถนนเส้นกลับไปอำเภอน้ำยืน แต่ก็ยังมีใจหยุดถ่ายรูปบ้านหลังใหม่ที่ทางการสร้างชดเชยให้ชาวบ้าน แทนหลังเก่าที่โดนลูกปืนใหญ่ของเขมร เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา แต่ไม่มีคนอยู่ เพราะเขาอพยพหลบหนีไปตั้งนานแล้ว..

บ้านทดแทนจากทางการ

สร้างทดแทนให้แล้ว แต่ไม่มีคนอยู่

ทหารไทย ริมถนนภูมิซรอล-น้ำยืน

ตอนขากลับบนถนนไปอำเภอน้ำยืน เราเห็นรถหุ้มเกราะของทหารวิ่งกันเพ่นพ่าน ผิดกับตอนขามาที่มีแต่ถนนโล่งๆ อีกทั้งสองข้างถนนก็มีทหารยืนอยู่เป็นระยะๆ
เกือบ 10 โมง เรากลับมาถึงอำเภอน้ำยืนอีกครั้ง และแวะหาข้าวกินรองท้องในตัวตลาด ก่อนจะกลับเข้าไปส่งหลานและพ่อกับแม่ของหลานสะใภ้ในหมู่บ้าน เนื่องจากเด็กเมารถ ร้องกระจองอแง ไปกับพวกเราต่อไปไม่ได้.
เรากลับมาถึงในหมู่บ้าน เมื่อยังมีเวลาก่อนจะค่ำ อีกกว่าครึ่งวัน.
... โปรดรอติดตามตอนต่อไป ...
ขอขอบคุณจาก...ชำนาญ ณ.อันดามัน