วันพฤหัสบดีที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2553

ผมเป็นพ่อค้าลองกอง


เมื่อกลางเดือน สิงหาคม ที่ผ่านมา ชำนาญ ณ.อันดามัน เปลี่ยนอาชีพอีกแล้วครับท่านผู้ชม คราวนี้แปลงกายเป็น พ่อค้าลองกอง เข้าป่า ขึ้นเขา บุกไปตามสวนลองกอง เพื่อเลือกหาซื้อเหมา ลองกองสุกๆ สดๆ จากต้นในสวนลองกอง แล้วนำไปขายตามตลาดนัดที่ภูเก็ต

ไม่ใช่ว่าผมจะมีความรู้หรือประสบการณ์มากพอที่จะทำธุรกิจการค้าขายประเภทนี้ได้ ยังห่างไกลมากนัก เพราะมันมีขั้นตอน เทคนิคและหลักการมากมาย ซึ่งพอจะแยกแยะได้คร่าวๆดังนี้

ขั้นแรก จะต้องมีสถานที่ระบายสินค้า คือแผงสำหรับวางขายลองกองตามตลาดนัดต่างๆ ซึ่งจะต้องจับจองแล้วเช่าเอาไว้ก่อนล่วงหน้าและที่สำคัญ จะต้องมี ทำเล ที่ดีด้วย จำเป็นจะต้องหาข้อมูลว่า ตลาดนัดที่ไหน วันอะไรมีคนมากและเป็นคนประเภทไหน ที่พอจะมีกำลังซื้อผลไม้ประเภทนี้ไปกิน เช่นถ้าตลาดนัดตามชายหาด ที่มีพวกผู้หญิงที่หากินกับฝรั่งมีอยู่มาก พวกนี้จะชอบซื้อลองกองเกรดเอ ช่อใหญ่ๆสวยๆ (เรียกว่าเกรดคุณนาย) แต่ถ้าเป็นตลาดนัดที่มีแค้มป์คนงานชาวพม่าเยอะๆ พวกนี้จะซื้อลองกองเกรดต่ำสุดที่เป็นลูกร่วง(ขนาดว่ากิโลฯล่ะ 10 บาท ยังต่อราคาอีก) อะไรประมาณนี้ ไม่ใช่อยู่ดีๆจะไปวางขายที่ไหนก็ได้ แบบนั้นมีทุนเท่าไหร่ก็หมด

ขั้นที่สอง จะต้องมีความรู้เรื่องราคาขายตามท้องตลาด ว่าลองกองเกรดไหน เขาขายกันกิโลกรัมล่ะเท่าไหร่ ซึ่งแต่ล่ะที่ แต่ล่ะวัน ราคาจะแตกต่างกันบ้าง เหมือนตลาดหุ้น

ขั้นที่สาม จะต้องรู้ว่า ที่สวนลองกองแต่ล่ะพื้นที่ เขาจะขายให้เราเกรดไหน กิโลกรัมล่ะเท่าไหร่ ซึ่งแต่ละพื้นที่ ราคาจะแตกต่างกัน อันนี้ขึ้นอยู่กับพ่อค้าลองกองที่ไปรับซื้อด้วย

ขั้นที่สี่ จะต้องคัดหรือแยกเกรดของลองกองเป็น ว่าลองกองไซต์ขนาดไหนควรจะซื้อได้ในราคากิโลกรัมล่ะเท่าไหร่และจะไปขายราคากิโลกรัมล่ะเท่าไหร่

ขั้นที่ห้า จะต้องมีรถยนต์กระบะบรรทุกเป็นของตัวเองและจะต้องขับเองด้วย ถ้าจ้างเขาขับรับรองว่าเจ้ง

ขั้นที่หก อันนี้สำคัญมาก เงินสดครับพี่น้อง เพราะชาวสวนลองกองเขารับเฉพาะเงินสดอย่างเดียวเงินเหี่ยวไม่เอา

ทั้งหมดทั้งเพนั้น เป็นหลักการเบื้องต้น ที่พ่อค้าลองกองจะต้องมี แต่ นายชำนาญ ณ.อันดามัน ไม่มีอะไรสักกะอย่างและที่ยังขาดมากที่สุดคือเงินสด ฮ้า ฮ้า..

และยังมีข้อปลีกย่อยอื่นๆ อีกมากมาย จะเล่าให้ฟัง ต่อไปนี้ เชิญติดตามหาความสำราญ

เรื่องของเรื่องมีอยู่ว่า พรรคพวกรุ่นน้องชื่อตาน้อย ที่รู้จักคบหากันมานาน เขาทำมาหากินกับการเป็นพ่อค้าขายผลไม้ตามตลาดนัดที่ภูเก็ต มานานเป็นสิบปีแล้ว ไม่ว่าจะเป็นมังคุด ทุเรียน เงาะ ลองกอง ลางสาดหรือผลไม้ตามฤดูกาลอื่นๆ ตาน้อย นับเป็นพ่อค้าที่จัดอยู่ในขั้นเทพ เป็นกูรูรู้ทุกเรื่อง

ทีนี้ บังเอิญเจอกันที่ตลาดนัดเสาร์-อาทิตย์ ที่ภูเก็ต ก็ถามสารทุกข์ สุกดิบกันตามธรรมดาของคนที่นานๆเจอกัน แล้วเขาก็ถามผมถึงอาชีพทำทัวร์ ผมก็บอกไปว่า ผมหยุดทำทัวร์มาประมาณ 3-4เดือนแล้ว เพราะมันเข้าหน้าฝน ไม่มีนักท่องเที่ยวและผมเพิ่งจะผ่าตัดตามาด้วย ตอนนี้ก็ไม่ได้ทำอะไร(ตกงาน ว่างั้นเถอะ) เขาก็เลยชวนผม ให้ไปเป็นพ่อค้าลองกองกับเขา เรื่องทุนรอน ไม่ต้องกังวล เขามีเพียบพร้อมอยู่แล้ว ส่วนผมจะลงเท่าไหร่ ก็ตามสะดวกของผม ได้กำไรแล้วค่อยมาว่ากันและเขารับรองว่าถ้าทำกับเขาเรื่องขาดทุนปิดประตูได้เลย

ข้อเสนอแบบนี้ก็เข้าทางผมสิครับ ท่านผู้ชม ผมตกลง โอเค ทันทีไม่มีคิดมาก หลังจากที่ได้คุยขั้นตอน รายละเอียดกันพอเข้าใจ ก็นัดแนะกันว่าวันรุ่งขึ้น เราจะไปหาซื้อลองกองกันที่จังหวัดพังงา

ตาน้อย จึงโทรไปหาชาวสวนลองกองซึ่งเป็นคนในพื้นที่ ที่พังงา บอกว่าพรุ่งนี้ช่วยบอกพรรคพวกตัดลองกองไว้ให้ด้วย ช่วงบ่ายจะเข้าไปเอา ทางโน้นรับปาก เป็นอันว่าเรียบร้อยในขั้นตอนแรกแบบเรียบๆง่ายๆ แล้วผมก็กลับบ้าน

วันรุ่งขึ้น เป็นวันอาทิตย์ ผมไปถึงบ้านตาน้อย ประมาณ 8 โมงเช้า เมื่อผมไปถึงเขาเตรียมตะกร้าสำหรับใส่ผลไม้ ยกขึ้นใส่ไว้ท้ายรถกระบะของเขาเรียบร้อยแล้ว ขณะที่ผมเมียงๆมองๆ ดูไปที่ท้ายรถ เขาจึงบอกผมว่าเอาตะกร้าไป 30 ใบ แต่ล่ะใบเมื่อใส่ลองกองเต็มแล้ว น้ำหนักจะอยู่ที่ประมาณ 28 ถึง 32 กิโลกรัม ผมได้ยินแล้วทำหน้าแบบถอดใจ ตาน้อยหัวเราะ แล้วบอกผมว่า “พี่ไม่ต้องตกใจ ผมพาคนงานพม่าไปด้วย 2 คน” เฮ้อ..ค่อยโล่งอกไปหน่อย นึกว่าจะต้องแบกตะกร้าลองกองน้ำหนัก 30 กิโลกรัม ถึง 30 ใบ ผมคงต้องขอถอนหุ้นก่อน

เก้าโมงเช้า เรา 4 คน ตาน้อย,ผมและคนงานพม่า 2 คน ก็ออกจากภูเก็ต ข้ามสะพานสารสิน ขึ้นถนนเพชรเกษม(สาย4) จากโคกกลอย มุ่งหน้า ไปวัดสุวรรณคูหา ซึ่งอยู่บนถนนสายภูเก็ต-พังงา หยุดกินข้าวเช้ากันที่ อ.ตะกั่วทุ่ง ประมาณครึ่งชั่วโมง ออกเดินทางต่อ ประมาณ 10 นาที่ ก็ถึงประตูทางเข้าวัดสุวรรณคูหา


ตาน้อย บังคับรถเลี้ยวซ้ายเข้าถนนซอย ผ่านหน้า “วัดสุวรรณคูหา” ซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงมากของจังหวัดพังงา ภายในบริเวณวัด มีถ้ำเล็ก ถ้ำน้อย มากมาย ประกอบไปด้วย หินงอก หินย้อย ที่มีรูปร่างแปลกๆ สวยงาม และทางวัดได้มีการจัดสร้างพระพุทธรูปปางต่างๆไว้ภายในถ้ำหลายจุดเพื่อให้ประชาชนทั่วไปและนักท่องเที่ยว ได้กราบไหว้บูชา ขอพร

ส่วนบริเวณหน้าถ้ำมีลิงภูเขาฝูงใหญ่ อาศัยอยู่ในป่าบนภูเขาหลังถ้ำ เมื่อมีนักท่องเที่ยวเข้าไปในวัด พวกมันก็จะลงมาวิ่งเล่นอยู่ในบริเวณนั้น นักท่องเที่ยวให้กล้วย ขนมกับพวกมันกิน แล้วก็ได้ถ่ายรูปไว้เป็นที่ระลึก ลิงพวกนี้ไม่มีอันตราย แต่ค่อนข้างจะซุกซน


วัดสุวรรณคูหาเป็นจุดท่องเที่ยวสำคัญที่บรรจุอยู่ในโปรแกรมทัวร์ ทุกทัวร์ที่ผ่านเส้นทางนี้ ก่อนจะไปลงเรือที่ท่าด่าน เพื่อไปเกาะปันหยีและเขาพิงกันในอ่าวพังงา

ในสมัยผมเป็นไกด์ของบริษัททัวร์ในภูเก็ต ผมก็พาลูกทัวร์แวะที่นี่ทุกทริป ก่อนไปลงเรือที่ท่าด่าน

จากปากซอยบนถนนเพชรเกษม เข้ามาตามถนนคอนกรีตประมาณ 4 กิโลเมตร เกือบ 11 โมง เรามาถึงปากซอยทางแยกเข้าไป “น้ำตกรามัญ” อันเป็นจุดนัดพบกับชาวสวนลองกองในพื้นที่ ก่อนที่เขาจะพาไปดูลองกองตามสวนต่างๆ ในบริเวณใกล้เคียง

ซึ่งส่วนใหญ่ ก็อยู่หลังบ้านและบริเวณรอบๆบ้าน ของพวกเขานั่นแหละ

ลองกองที่มีลูกเต็มต้น สุกพร้อมจะให้ตัด

เมื่อเราไปถึง บางสวนที่ตัดเสร็จแล้ว ได้นำมากองรวมกันไว้หรือใส่ตะกร้าผลไม้รอเรามาคัดแยกเกรดและชั่งน้ำหนัก บางสวนที่กำลังตัดอยู่ก็มี


การตัดลองกอง


-----------


ลองกอง ที่ตัดมาจากต้นรอชั่งน้ำหนัก

ตาน้อย เริ่มสำรวจตรวจคุณภาพของลองกอง ตามขนาดและความหนาแน่นของลูกลองกองในแต่ละช่อ ส่วนผมก็ปฏิบัติการชิมความหวานไปเรื่อยๆ ปรากฏว่ากว่าจะประเมินราคาได้เล่นเอาพุงกาง

สรุปว่า ตาน้อย สามารถตกลงราคาซื้อจากชาวสวน ได้ดังนี้

เกรด1 ลองกองช่องามๆลูกแน่น กก.ล่ะ 13 บาท

เกรด2 ลองกองช่อ ลูกห่างๆไม่แน่น กก.ล่ะ 8 บาท

ส่วนลูกร่วง ที่หลุดออกมาจากช่อ กก.ล่ะ 3 บาท

ขั้นตอนต่อไป เป็นการคัดแยก ลองกองเกรดต่างๆ จัดลงในตะกร้า ที่เราได้เตรียมไป เมื่อคัดแยกจัดลงตะกร้าเรียบร้อย ต่อจากนั้นก็ขึ้นตาชั่ง เพื่อชั่งน้ำหนัก

ลองกองเกรด1 น้ำหนักจะอยู่ที่ 25-28 กก.ต่อหนึ่งตะกร้า

ลองกองเกรด2 ประมาณ 28-30 กก.ต่อตะกร้า

ลูกร่วง น้ำหนักมากว่าเพื่อน เพราะใส่ลงไปได้หนาแน่นมากกว่า ประมาณ 30-33 กก.ต่อตะกร้า สำหรับน้ำหนักของตะกร้าอยู่ที่ 2.5 กก.ซึ่งจะต้องหักออกในภายหลัง

ลองกองที่ชั่งน้ำหนักแล้ว

บ่าย 2 โมงกว่า ลองกองทั้งหมดจึงได้ขึ้นไปอยู่บนท้ายรถกระบะ รวมน้ำหนักทั้งหมดเกือบ 900 กก.ตะกร้าที่เราเอาไปด้วยไม่พอใส่ ต้องยืมตะกร้าจากเจ้าของสวนลองกองเพิ่ม

ผมมองลองกองที่เราจะต้องเอามันไปขายที่ภูเก็ต จนรู้สึกกังวลกับจำนวนมากของมัน อดไม่ได้ต้องถาม ตาน้อยว่า นี่เราจะต้องขายกันกี่วันมันถึงจะหมด

ตาน้อย บอกผมว่าไม่เกิน 3 วัน ต้องขายให้หมด ถ้าไม่หมดลองกองจะดำ ราคาตกขายยากและเราจะขาดทุน ฟังตาน้อยบอกแล้วผมก็ยังไม่ค่อยจะเชื่อ เพราะผมไม่เคยมีประสบการณ์

แล้วเราก็รีบออกจากสวนลองกอง เพื่อไปให้ถึงตลาดนัดเปิดท้ายก่อน 5 โมงเย็น ซึ่งวันนี้เป็นวันอาทิตย์ ตาน้อยบอกว่าวันนี้จะต้องขายให้ได้อย่างน้อยต้องครึ่งหนึ่ง เพราะนัดกับชาวสวนไว้ว่า วันพุธจะกลับมาซื้ออีก บ๊ะมันกะได้ยังงี้เลยเรอะ

เรามาถึงตลาดท้ายรถที่ภูเก็ต เกือบ 5 โมง กว่าจะเอารถเข้าไปถึงแผงได้ทุลักทุเลน่าดูเพราะคนเริ่มมาก แผงขายของแม่ค้าต่างๆวางเต็มไปหมด และแผงของเราก็อยู่ลึกเข้าไปพอสมควร

เราช่วยกันลำเลียงเอาลองกองจากบนรถ ลงประมาณครึ่งรถ ที่เหลือค้างไว้บนรถ ตาน้อยเอาไปจอดไว้ในที่จอดรถพร้อมกับคนงานพม่า ส่วนผมรอเฝ้าลองกองที่แผงด้วยความล้า เข่าอ่อนเพราะไม่ได้ลุยกับงานหนักแบบนี้มานานหลายปี

ประมาณ 15 นาที ตาน้อยกลับมา ลงมือเอาลองกองจากตะกร้าขึ้นวางบนแผง จัดแบ่งตามเกรด1,2และลูกร่วง แล้วบอกให้ผมเขียนป้ายราคา 15,25,30 โห..ขายกันยังงี้เลยหรือ จากสวน 3,8,13

ผมเขียนป้ายราคายังไม่ทันเสร็จ ลูกค้าทั้งคนไทยและนักท่องเที่ยวญี่ปุ่น,เกาหลี,จีน,ฝรั่ง เริ่มเข้ามาเลือกลองกองใส่ถุงชั่งน้ำหนักกันแล้ว เพราะเขาเห็นๆอยู่ว่า ของเราเพิ่งมาจากสวนสดๆ ร้อนๆ มดแดง มดดำ วิ่งกันเพ่นพ่านบนช่อลองกอง ถ้าเป็นอาหารถือว่ายกมาควันฉุยเลยแหละ

ดู การตัดลองกอง การจัดลงตะกร้าและลูกค้าที่หลากหลาย



ผมชักเริ่มสนุก เมื่อทุกอย่างเข้ามือ จนลืมเหนื่อย ประมาณ 4 ทุ่ม คนเริ่มวาย ผมหันไปดูด้านหลังเห็นตะกร้าเปล่าวางซ้อนกันอยู่เกือบ 20 ใบ ที่ยังมีลองกองอยู่ 2 ใบ แสดงว่าเราขายไปแล้วเกินครึ่งที่ซื้อมาจากสวน ตาน้อยสั่งเบียร์กระป๋องจากแผงขายน้ำที่อยู่ติดกันมาให้ผมแก้เหนื่อย

4 ทุ่มเศษ เราเก็บแผง รวมน้ำหนักลองกองที่ขายไปวันนี้เกือบ 400 กก. ส่วนที่เหลือเราไปขายที่ตลาดนัดท้ายรถ แถวๆหาดราไวย์ ตอนบ่ายของวันรุ่งขึ้น จนเกือบหมด

พอวันพุธตอนบ่าย เราก็กลับไปพังงาอีกครั้งและวันรุ่งขึ้นไปขายที่ตลาดนัดท้ายรถแถวๆหาดกะตะ ขายดีอีกเหมือนกัน

ที่ตลาดหาดกะตะ ผมมีเรื่องราวควันหลงมาเล่าให้ฟัง

เรามาถึง ตลาดประมาณบ่าย 2 โมงเศษ วันนี้เราได้แผงที่ริมถนนหน้าตลาดทำเลดีมาก เมื่อจัดลองกองขึ้นแผงเสร็จก็บ่าย 3 โมง เริ่มมีคนมาจับจ่ายซื้อของกันบ้างแล้ว และก็มี วนิพกตาบอด ประเภทร้องเพลงแบบคาราโอเกะที่มีลำโพงขนาดกะทัดรัดห้อยคอ มายืนร้องเพลงอยู่ที่หน้าแผงขายลองกองของผมพอดี หมอนี่เสียงดีไม่เบา มีพ่อค้า แม่ค้า ฝรั่งนักท่องเที่ยวและรวมทั้งผมด้วย ช่วยกันไปคนละ 5 บาท 10 บาท

ศิลปินคนแรก

พอแดดร่ม ลมตกหน่อย ก็มี วนิพก เข้ามาแจมอีกคน ยกโต๊ะเก้าอี้มาด้วย และก็จับจองพื้นที่บริเวณใกล้ๆกันนั้นแหละ เป็นเวทีแสดง(ผมได้ข้อมูลจากพ่อค้าแถวนั้นว่าเป็นที่ประจำของแก) นายคนนี้ ขาซ้ายด้วนครับ แกแสดงการเป่าใบไม้เป็นเพลง ซึ่งเมื่อมีการแสดงผมฟังเท่าไหร่ๆ ก็ไม่เป็นสักเพลง

ศิลปินคนที่สอง

หลังจากการจัดเวทีแสดงเป็นที่เรียบร้อยก็เริ่มลงมือแสดงคอนเสิร์ตเป่าใบไม้ทันที ซึ่งไอ้เจ้าคนแรกก็เพิ่งจะรู้ว่าวันนี้มีการประชันเกิดขึ้นแล้ว(เพราะไม่มีใครบอก เมียก็ไปกินเหล้าขาวกับพม่า) ก็ตอนที่ได้ยินเสียงเป่าใบไม้นี่แหละ

เป็นอันว่า วันนี้พ่อค้า แม่ค้าแถวนั้น รวมทั้งผู้มาจับจ่ายตลาด ต่างก็ได้ชมการประชันคอนเสิร์ตฟรีครับท่านผู้ชม โดยมีศิลปินเดี่ยวทั้งสองเวที เวทีหนึ่งร้องคาราโอเกะ อีกเวทีเป่าใบไม้ ซึ่งทั้งสองเวที อยู่ห่างกันไม่เกิน 3 เมตร

เมื่อเวทีอยู่ห่างกันไม่เกิน 3 เมตร เสียงมันก็ตีกันสิครับท่านผู้ชม อีตอนแรกทางเวทีคาราโอเกะ ใช้เสียงพอ ซ๊อฟๆ ฟังสบายๆ แต่พอมีเสียงจากเวทีใบไม้อี้แอ่ อี้แอ่ เป่าข่มมา พี่แกก็เลยเปิดวอลลุ่มลำโพงดังขึ้นไปอีก แบบว่าของขึ้นประมาณนั้น ที่นี้ความอลเวงก็เกิดขึ้น เพราะฟังยังไง ก็ฟังไม่ออกว่าเป็นเสียงอะไรกันแน่ พวกพ่อค้าแถวนั้นก็ชวนกันปรบมือเชียร์เป็นการใหญ่ สถานการณ์เริ่มตึงเครียดขึ้นเรื่อยๆ ไอ้ผมนึกในใจอยู่ว่า ประเดี๋ยวคงได้ถ่ายคลิป วนิพก ตีกันแน่ๆ

แต่แล้ว สักพักใหญ่ๆ เหตุการณ์ความตึงเครียดก็คลี่คลาย เมื่อเวทีใบไม้ ถอดใจ คงจะเหนื่อยสู้ไม่ได้ เก็บเครื่องดนตรี เก็บเวทีดนตรี ขึ้นมอเตอร์ไซรับจ้าง หายเงียบไป

ส่วนลูกพี่คาราโอเกะของผม ก็เลยชนะลอยลำเข้ารอบ และแสดงอยู่จนกระทั่งเมียทีไปนั่งกินเหล้าขาว อยู่กับพม่าในแค้มป์ใกล้ๆแถวนั้น เมาแอ๋กลับมาจูงมือจากไป

เฮ้อ..เสียดาย เกือบจะได้คลิปดีๆ โพสต์ขึ้นยูทูปแล้วเชียว

ดูการประชันคอนเสิร์ต วนิพก


แล้วพบกันใหม่ เรื่องต่อไป สวัสดีครับ
ชำนาญ ณ.อันดามัน
26 สิงหาคม 53
---------------------------------------

วันอังคารที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2553

ลากทูน่าที่รายาใหญ่


ลูกทัวร์(คนซ้ายมือ) ไต๋เอก(คนขวามือ)กับทูน่าหูยาว
---------------------------------------------

เมื่อวันที่ 8 ส.ค.53 ประมาณ 9 โมงเช้า “ไต๋เอกผมยาว” โทรมาหาผม
บอกว่า “วันนี้ มีทริปตกปลาที่เกาะรายา จะไปถ่ายรูปและเก็บเรื่องมาเขียนด้วยหรือไม่?”

เหตุผลที่ ไต๋เอก ได้ชวนผมไปด้วย เพราะต้องการให้ผมไปเก็บภาพและถ่ายคลิปวีดีโอ เพื่อนำมาเขียนเรื่องราวโปรโมทเว็บบล็อก ชื่อ “ตกปลาอันดามันกับไต๋เอกผมยาว”  ครับท่านผู้ชม

ผมถามกลับไปว่า “จะไปตอนกี่โมง?”

ไต๋เอก ตอบว่า “ประมาณ ช่วงบ่ายๆ ตอนนี้กำลังลงน้ำจืดน้ำมันเชื้อเพลิงและเสบียง”

แล้วบอกต่อว่า “ไปคืนเดียว กลับพรุ่งนี้ ตอนเช้า”

คิดสาระตะเสร็จแบบง่ายๆ(ตามประสาคนใจง่ายแบบผม)แล้วตอบกับไต๋เอก ไปว่า “ไปก็ไป แล้วเที่ยงๆพบกันที่เรือ” แล้วผมก็กดวางสาย ตกลงกันง่ายๆแค่นั้น

เมื่อเช้า ผมดูข่าวพยากรณ์อากาศ จากกรมอุตุฯเตือนอยู่ว่า วันที่ 8-9-10 นี้ พายุฝนในทะเล “อันดามัน” มีกำลังรุนแรงขึ้น คลื่นในทะเลสูงประมาณ 3 ถึง 4 เมตร “เรือใหญ่ควรงดออกจากฝั่ง เรือเล็กให้ระมัดระวัง” เอ๊ะ..ไม่ใช่ ขออภัย..แฮะ แฮะ..

เขาเตือนว่า..”เรือเล็กควรงดออกจากฝั่ง เรือใหญ่ให้ระมัดระวัง” แหม กลับของเขาเสียหายหมด

แล้วมาคิดสงสัยอยู่ว่า ใครทะลึ่งคิดออกไปตกปลาช่วง วัน สองวันนี้ แล้วไต๋เอกก็ช่างรับจ๊อบเข้าไปได้ยังไง

แต่ก็มาคิดอีกทีว่า คงไม่เป็นไรหรอกน่า เรือ ช.ชารีฎา ลำออกเบ่อเร่อเบ่อร่า และไต๋เอก ก็มีฝีไม้ลายมือไม่ใช่ย่อย แล้วก็ออกไปแค่เกาะรายา ใกล้ๆแค่นี้ ใช้เวลาไม่เกิน 2 ชั่วโมง อีกอย่างทะเลแถวนี้เรือเยอะแยะ ผิดท่ายังไง ลอยคอไม่นาน ก็ต้องมีคนมาช่วย ถ้าไม่ซวยจมน้ำหายไปซ่ะก่อน

และแล้ว เกือบบ่ายโมง ผมก็มาถึง ท่าที่เรือ ช.ชารีฎา เทียบอยู่ ซึ่งติดกับ ท่าเทียบเรือรัษฎา อันเป็นท่าเทียบเรือหลักของภูเก็ต สำหรับเรือทัวร์ทั้งเล็กทั้งใหญ่ ที่ให้บริการนักท่องเที่ยวไปเกาะพีพี อ่าวนาง เกาะลันตาและเกาะอื่นๆ ในบริเวณอ่าวพังงา

ลูกทัวร์บางส่วน
-----------------------

เมื่อผมลงมาในเรือ ก็เห็นคนอื่นๆและลูกทัวร์นั่งอยู่แล้ว ผมทักทายกับลูกทัวร์เหล่านั้น ซึ่งเป็นเด็กหนุ่มๆ สาวๆ ทุกคน พวกเขาก็ทักทายตอบผม(แบบ งงๆ ว่าอีตาลุงนี่เป็นใครแล้วมาทำอะไร ประมาณนั้น) ผมเดินเลยไปทักทายกับไต๋เอก, น้องดำ(ช่างเครื่อง), หลานแข้ง(คนประจำเรือ) และเจ้าชิโร(หมาพันธ์ชิสุของไต๋เอก) แบบว่าคนกันเองรู้จักกันดี และถือโอกาสถาม ไต๋เอก ว่าลูกทัวร์ ทริป นี้มาจากไหน ถึงได้กล้าหาญชาญชัย จะออกไปตกปลาหน้าลม หน้าฝนแบบนี้

ไต๋เอก บอกผมว่า เป็นพรรคพวกกันอยู่ในภูเก็ตนี่แหละ บางคนก็เคยใช้บริการมาแล้ว ขัดเขาไม่ได้จึงต้องรับจ๊อบนี้

ถึงว่า ผมคิด..ถ้าเป็นคนจังหวัดอื่น คงไม่ดันทุรังออกไปเสี่ยงกับคลื่น 3-4 เมตรเป็นแน่

ผมถามไต๋เอกว่า “ลูกทัวร์มีกี่คน” เพราะเท่าที่ผมเห็นตรงบริเวณที่นั่งบนดาดฟ้าหัวเรือเมื่อตอนผมลงมาเห็นมีอยู่ 6 คน ไต๋เอกตอบว่า “ทั้งผู้หญิง ผู้ชายก็ 8 คน ยังรออีก 3 คนกำลังมา”

ผมรวมคร่าวๆเป็นอันว่า ทริป นี้ลูกทัวร์เป็นผู้หญิง 3 คน ผู้ชาย 6 คนรวมเป็น 8 คน ส่วนคนเรือ 3 รวมทั้งผมเป็น 4 คน เจ้าชิโร่(หมาของไต๋เอก)อีกตัว ทั้งหมดเป็น 12 คนกับอีก 1ตัว ก็ไม่มาก ไม่น้อย สำหรับเรือ ช.ชารีฎา ที่มีความกว้าง 5.80 เมตร และยาวถึง 21 เมตร

เจ้าชิโร่(หมาไม่เมาคลื่น)
--------------------------

ประมาณบ่ายโมงเศษ เกือบบ่ายสอง ทุกอย่างพร้อมได้ฤกษ์ เรือ ช.ชารีฎา ก็ปลดเชือก เบนหัวออกจากท่า มุ่งหน้าออกสู่ปากร่องน้ำภูเก็ต “หมายเกาะรายาใหญ่ ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเกาะภูเก็ต ด้วยทัศน์วิสัยแจ่มจ้า ท้องฟ้าแจ่มใส กระแสลมไม่แรงมากนัก แดดร้อนเปรี้ยง ไม่มีเค้าลาง ของพายุฝนให้เห็นตามที่กรมอุตุฯพยากรณ์แม้แต่นิดเดียว ผมภาวนาอยู่ในใจว่าขอให้อากาศแบบนี้จนถึงปรุ่งนี้เถอะ ลูกทัวร์ทริปนี้จะได้ไม่ต้องทรมานกับการเมาคลื่น

ลูกทัวร์ทั้งหมดออกมาอยู่บนดาดฟ้าหน้าห้องถือท้าย บ้างก็จับกลุ่มคุยโม้เรื่องตกปลา บ้างก็หามุมกล้องเพื่อถ่ายรูปให้กัน ทุกคนดูมีความสุขและมีความหวังเป็นอย่างมากกับการตกปลา เพราะเชื่อในฝีมือของตัวเองและเชื่อในฝีมือการหา “หมาย”ของ ไต๋เอก

ไต๋เอก ถือท้ายเรือใช้ความเร็วปานกลาง แล่นผ่านเกาะตะเภาน้อย เกาะตะเภาใหญ่ ผ่านท่าเทียบเรือน้ำลึกภูเก็ต ผ่านเรือสินค้า เรือบรรทุกน้ำมัน หลายลำที่ทิ้งสมอรอเทียบท่าอยู่บริเวณ ร่องน้ำลึก แล้วจึงเร่งความเร็วเต็มที่

จนกระทั่งพอผ่าน อ่าวฉลอง มาไม่นาน เริ่มมองเห็น เกาะรายาใหญ่ อยู่ข้างหน้า กระแสลมเริ่มแรงขึ้นอย่างไม่มีปี่มีขลุ่ย ผมชะโงกหน้าออกจากห้องถือท้าย มองไปทางตะวันตกตามทิศทางของกระแสลมที่พัดแรงมาเรื่อยๆ เมฆฝนก้อนมหึมา ดำทะมึน กำลังเคลื่อนตัวมาอย่างรวดเร็วตามทิศทางที่เรากำลังมุ่งหน้าไป

มันเกิดขึ้นตอนไหน ยังไง ก็ไม่รู้ จู่ๆก็โผล่มาแล้ว นี่แหละ ฟ้าฝน อันดามัน มาเร็ว ไปเร็ว

ลมแรงขึ้น คลื่นสูงขึ้น ตามลำดับและไม่กี่อึดใจฝนก็ตามมาอย่างหนักพร้อมกับคลื่นลูกเท่าตึก ลูกทัวร์วิ่งเข้าหาที่หลบฝนกันอลหม่าน

ตะลุยฝ่าดงคลื่น
---------------------------



ไต๋เอก เริ่มชะลอเครื่องยนต์ แล่นฟันคลื่นไปช้าๆ เจอเข้าบางลูกยกหัวเรือลอยขึ้นไป ไม่ต่ำกว่า 5 เมตร แล้วก็ฟาดลงมากระแทกกับคลื่นลูกต่อไปที่หนุนเข้ามา จนน้ำแตกกระจายกระเสนขึ้นมาบนลำเรือปนกับน้ำฝนที่ตกอย่างหนักอยู่แล้ว จนมองอะไรไม่เห็น ทัศน์วิสัยมืดมัวไปหมด

ประมาณ 20 นาที เมฆฝนก้อนนั้นจึงผ่านไปเหลือเพียงม่านฝนพรำๆ แต่คลื่นลมยังหนักหน่วงเหมือนเดิมและดูทีท่าว่าจะหนักกว่าเดิม เพราะเรือแล่นออกมากลางร่องน้ำระหว่างเกาะภูเก็ตกับเกาะรายาใหญ่แล้ว ไม่มีอะไรมาบังกระแสลมไว้ จึงหอบเอาคลื่นลูกใหญ่ๆ เข้ามาตลอดเวลา

ผมเริ่มได้ยินเสียงโฮกๆ จึงชะโงกออกไปดูข้างกราบเรือ เห็นลูกทัวร์ผู้หญิง 2 คน ยืนเข้าแถวเกาะแคมเรือ กำลังแข่งกันคำรามขู่ตะคอกทะเลเป็นการใหญ่ ส่วนลูกทัวร์ผู้ชายบางคน เริ่มจะหน้าซีด ปากขาวกันบ้างแล้วเหมือนกัน

ผมทั้งสงสาร ทั้งเวทนา แต่ไม่รู้จะช่วยยังไง ได้แต่แนะนำให้หายใจลึกๆ และมองออกไปไกลๆ แม่คุณพยักหน้าเขียวๆเป็นเชิงว่าเข้าใจและพร้อมที่จะปฏิบัติตาม แต่ทันทีนั้นก็คำรามโฮก ใส่ผมแบบยั้งไม่อยู่ ดีว่าผมหลบทัน ไม่ยังงั้นแย่แน่ๆ เพราะผมใส่เสื้อผ้าไปชุดเดียว

พอแม่คุณทั้งสอง คำรามตะคอกทะเล จนน้ำเขียวๆในท้องออกมาหมด เหลือน้ำใสๆออกมานิดหน่อย ก็มืออ่อน ตีนอ่อน คิดว่าน่าจะม้วนนอนในกระด้งได้แบบมโนราห์ คนที่ยังพอมีแรงจึงได้ช่วยกันพยุงไปที่นอน

พอสองสาวคล้อยหลังเท่านั้น อีกสองหนุ่มที่สองมุม ก็ลงมือปฏิบัติการคำรามขู่ทะเลเป็นลำดับต่อไป(อยากจะถ่ายคลิปมาให้ดูเหมือนกันแต่ก็สงสารพวกเขา) เพื่อน 2 คนช่วยกันตักน้ำจืด จากในถังส่งให้บ้วนปากและล้างกราบเรือ ส่วนลูกเรือ "แข้ง" นอนหลบเงียบอยู่ในที่นอน ผู้หญิงอีกคน ซึ่งอายุมากกว่าใคร หลบขึ้นไปนั่งหน้าขาว ดมยาดม อยู่บนห้องถือท้ายข้างๆ ไต๋เอก ผมยังนึกชมว่าผู้หญิงคนนี้อึดน่าดู

เฮ้อ...มาทรมานกันแท้ๆ นอนอยู่ที่บ้านสบายๆ ไม่ชอบ

ไต๋เอก ตะโกนถามคนที่ยังพอมีแรงว่า จะกลับบ้านหรือจะไปต่อ เขาตะโกนตอบมาจากท้ายเรือว่า ไปต่อ

ขณะนั้นเวลาประมาณ 4 โมงเย็น เรือกำลังแล่นอยู่กลางร่องน้ำระหว่างเกาะภูเก็ต ใกล้กับเกาะรายาใหญ่ ไต๋เอก บอกว่าเป็นตำแหน่งนี้ มีปลา ทูน่าหลังดำ   กับ ทูน่าหูยาว ซึงเป็นทูน่าขนาดเล็ก ชุกชุมมาก คลื่นแรงและน้ำเชี่ยวแบบนี้ ปลาทูน่า จะกินเบ็ดดี ต่อจากนั้นก็บอกให้ ช่างดำ เตรียมลงเบ็ด

ไม่เกิน 10 นาที่ ช่างดำ เริ่มปล่อยสายเบ็ดลงน้ำ พร้อมกันทีเดียว 2 สาย โดยมีลูกทัวร์ 3 คน(ที่ยังไม่ขู่ทะเล)เป็นผู้ช่วย ส่วนผมเตรียมกล้อง สังเกตการณ์อยู่ข้างๆ เพื่อเก็บภาพเด็ดๆมาฝากท่านผู้ชม

เรือลากสายเบ็ดฟันคลื่นไปไม่นาน ทูน่า ก็เริ่มกินจริงๆ

ลาก ทูน่า
------------------

จนกระทั่ง เรือฟันคลื่นลากเบ็ด มาถึงหลังเกาะรายาใหญ่ จึงได้เก็บเบ็ด ปรากฏว่า ได้ทูน่าหลังดำและหูยาวมา 18 ตัวไม่นับที่หลุดไปหลายตัว แต่ละตัวน้ำหนักไม่ต่ำกว่าหนึ่งกิโลฯ ก็นับว่าไม่เลว
5 โมงเศษ ไต๋เอก บังคับเรือแล่นเอื่อยๆ ผ่านเรือหลากหลายประเภท ที่ทิ้งสมอหลบคลื่น หลบลมอยู่หลังเกาะรายา จนพ้นเกาะรายามาอยู่กลางร่องน้ำ ระหว่างเกาะรายาใหญ่กับเกาะรายาน้อย จึงเริ่มหา “หมาย” สำหรับตกปลาประเภท ปลาเก๋า ปลากะพง ปลาหัวเสี้ยม ปลามงหรือปลาหน้าดินอื่นๆ

วนเรืออยู่ไม่นาน หน้าจอ Sounder ก็โชว์ “เชื้อปลา” ที่ระดับน้ำลึกประมาณ 55-57 เมตร

วนหาตำแหน่งทิ้งสมอ
----------------------------



ไต๋เอก บอกให้ ช่างดำ ทิ้งสมอ ปล่อยสายสมอ ยาวประมาณ 300 เมตร ปรากฏว่าสมอกาว เพราะคลื่นแรงและน้ำเชี่ยว ทำให้เรือเดินผ่าน “หมาย” ที่มี “เชื้อปลา” ไปไกล

ไต๋เอก สั่งกว้านสมอขึ้นมา วนหา “เชื้อปลา”อีกรอบ แล้วทิ้งสมอเป็นครั้งที่สอง

แต่ครั้งที่สอง สมอกาวอีก กว้านขึ้นมาใหม่ วนหาที่ทิ้งสมอเป็นครั้งที่สาม ขณะนั้นท้องฟ้าเริ่มมืดลงทุกที ลมแรง คลื่นสูงประมาณ 3-4 เมตร บางครั้งก็มาสามเส้า ลูกทัวร์ ที่เหลือ 3 คนเริ่มคำรามขู่ทะเล บ้างแล้ว
จนกระทั่งครั้งที่สามจึงประสพความสำเร็จ สมอยึดติดพื้นผิวทะเล ท้องฟ้ามืดสนิทพอดี ช่างดำ ผูกเชือกสมอเสร็จเรียบร้อยแล้วจึงลงไปห้องเครื่อง สตาร์ทเครื่องยนต์ปั่นไฟ ไต๋เอก ดับเครื่องยนต์ แล้วเปิดไฟเรือสว่างจ้าไปทั้งท้องทะเลรอบๆลำเรือ

และ ณ.บัดนั้น คุณผู้หญิงที่ยังเหลืออีกคน ก็หมดแรงอึดเมื่อเรือโต้คลื่นอยู่กับที่ เธอตะลีตะลานลงมาจากห้องถือท้าย ไม่ทันถึงกราบเรือ เธอก็คำรามใส่ทะเลทันที เฮ้อ..ผมอุตสาห์นึกชื่นชมอยู่ในใจว่าเธอเก่ง

สุดท้ายไปหมดทุกคน แม้กระทั่ง “แข้ง”คนประจำเรือก็ยอมแพ้นอนซม จึงเหลือเพียง 3 คนกับหนึ่งตัว คือไต๋เอก,ช่างดำ,ผมและเจ้าชิโร่หมาพันธ์ชิสุตัวนั้น ซึ่งผมก็ไม่แน่ใจว่ามันเมาคลื่นหรือไม่ แต่เห็นมันเที่ยววิ่งตาม ไต๋เอก ตัวเปียกม่อลอกม่อแลกรอบๆลำเรือ ไม่ปรากฏว่ามันจะขู่คำรามหรือจะเห่าสักแว็ก ใส่ทะเลก็ไม่ได้ยิน

ไต๋เอกกับช่างดำ เริ่มเตรียมเบ็ดและเหยื่อสำหรับตกปลาน้ำลึก ส่วนผมก็นั่งเฝ้าอยู่ท้ายเรือ ดูพวกเขาทำงานเอวเคล็ด หัวคลอนอยู่ตรงนั้น(เพราะ ชำนาญ ณ.อันดามัน ตกปลาไม่เป็นกับเขาหรอก ไม่เมาคลื่นก็บุญวาสนาแล้ว ฮ้า..ฮ้า.) ท้องก็ร้องครวญครางเพราะความหิว ไต๋เอกคงจะพอรู้ จึงบอกให้ผมไปเอามาม่า ที่ห้องถือท้ายมารองท้องเสียก่อน ผมไม่ยอมเสียเวลา รีบไปเอามาเปิดซองแล้วล่อมันทั้งดิบๆ ยังงั้น

ช่างดำ พูดกับผมว่า “ลูกพี่ทนหิวหน่อยนะ ขอตกกะพงแดงมาแกงส้มสักตัวก่อน แล้วค่อยกินข้าว” บ๊ะ แล้วถ้ามึงตกไม่ได้ กูมิต้องอดข้าวทั้งคืนเรอะ ผมได้แค่คิดเท่านั้นแหละครับท่านผู้ชม ขืนพูดออกไป มันจะได้จับโยนทะเลสิ ตัวมันยังกะหมีควายอยู่ด้วย

แล้วไม่นาน ตัวแรกเป็นผลงานของ ช่างดำ ก็เอาขึ้นมาบนเรือจนได้ โดยมี ไต๋เอก ช่วยอีกแรง

ช่างดำกับไต๋เอกช่วยกันเอาตัวแรกขึ้นเรือ
------------------------------



-----------------

------------------
ตัวแรก หลังจากที่ทิ้งสมอเป็นครั้งที่3
---------------------------

ต่อจากนั้น ช่างดำ ก็ลาก ปลามง ขนาดพอแกงส้มเลี้ยงคนได้ทั้ง 12 คนบนเรือ ผมใจชื้นขึ้นมาหน่อย ยังไงคืนนี้ก็ไม่ต้องกินมาม่าอย่างเดียวแล้ว

ช่างดำ ลงมือขอดเกล็ด มง ตัวนั้นเพื่อแกงส้ม ปล่อยให้ไต๋เอก ตกคนเดียวไปพลางๆ และผมนั่งลุ้น

สักพักใหญ่ๆ เมื่อคลื่นซ้อนมาสามลูกจนน้ำขึ้นถึงท้ายเรือที่ยืนตกปลา ผมได้ยินเสียงครืดๆ หนักๆ “เสร็จ สมอกาวอีกแล้ว ปลากำลังเริ่มกินพอดี” ไต๋เอก บ่นอย่างหัวเสีย แล้วกะโกนบอกดำที่กำลังแกงส้มส่งกลิ่นหอมฉุย “ดำ ถอนหมอ ย้ายไปหลังเกาะ” พร้อมกับรีบเก็บสายเบ็ดไปพลาง

ช่างดำ ทิ้งหม้อแกงส้ม เดินไปหัวเรือเพื่อดึงเชือกสมอเข้าเครื่องกว้าน ส่วนผมไปหัวเรือเช่นกันเพื่อช่วยเก็บเชือกสมอ ซึ่งยาว 300 เมตรต่อจากช่างดำ ค่อยๆทะยอยหย่อนลงห้องเก็บเชือก

ไต๋เอก สตาร์ทเครื่องยนต์กระหึ่มขึ้นอีกครั้ง เริ่มกว้านสมอ ประมาณ 10 นาที จึงเอาสมอขึ้นเรือได้ ค่อนข้างยากเพราะคลื่นแรงมาก แล้วไต๋เอก ก็นำเรือไปยัง หลังเกาะรายา เวลาขณะนั้นประมาณ สี่ทุ่ม

ห่างจากเกาะรายา ไปทางทิศตะวันออก ประมาณ 5 ไมล์ ไต๋เอก สั่งให้ทิ้งสมออีกครั้ง คลื่นลมเบาบางกว่าจุดแรกเล็กน้อย รอบๆเรือเรา สว่างไสวพราวไปทั้งท้องทะเล จากไฟของเรือปั่นไฟล่อปลา ไม่ต่ำกว่า 30 ลำ เหมือนมีงานสวนสนุก

เรือปั่นไฟ ล่อปลา ลำที่อยู่ใกล้เรามากที่สุด
-------------------------
ทิ้งสมอเสร็จ แกงส้มเสร็จ ข้าวสุกพอดี ช่างดำ เรียกทุกคน ให้มากินข้าว หลายคนพยายามตะกายกันมาที่ห้องครัวท้ายเรือด้วยความทุลักทุเล แต่ละคนหน้าขาวซีด ปากเขียวไม่มีสีเลือด

ช่างดำ ตักข้าวใส่จาน ให้คนละเล็กน้อย เพราะรู้ว่าไม่มีใครกินได้แน่ แต่ก็บอกให้ทุกคนพยายามกิน ได้เท่าไหร่ก็เอาเท่านั้น ทุกคนก็พยายามกันอย่างเต็มที่ เพราะความหิว แต่..สุดท้าย ไม่เกิน 3 คำต้องทิ้งจานข้าว รีบวิ่งไปที่ข้างเรือ ขู่ทะเลต่อไปทุกคนเลย ไม่มียกเว้น บางคนได้แค่คำเดียวจริงๆ

ต้องเข้าใจว่า คนเมาคลื่นมันเหม็นไปหมดทุกอย่าง ถ้าคนไม่เคยเมาต้องลองเมาดูสักครั้ง แล้วท่านจะรู้ว่า “ทะเลไม่ใช่ที่อยู่ของคน” เป็นสัจธรรมที่แท้จริง

สุดท้าย ก็เหลือ 3 คนกับอีก 1 ตัว ที่ได้กินข้าวมื้อนั้น

เมื่อพวกเรา 3 คนกินข้าวกันเสร็จเรียบร้อย อิ่มหมีพีมันแล้ว ประมาณ 5 ทุ่มเศษ ไต๋เอก เข้านอนก่อน ช่างดำตกปลาต่อ ส่วนผมนั่งสูบบุหรี่คุยเป็นเพื่อนช่างดำ สักพักก็ขอไปนอน หลับๆตื่นๆ เพราะเหนียวตัวไม่ได้อาบน้ำ

จนกระทั่งตีสี่ ผมลุกขึ้นมาเข้าห้องน้ำ ล้างหน้าล้างตาเสร็จ รู้สึกหิว เลยจัดการกินข้าวกับแกงส้มตอนหัวรุ่งนั่นแหละใครจะทำไม ก็คนมันหิวและกินได้ด้วย

พอกินข้าวเสร็จ ดำ ลุกขึ้นมาอีกคน จัดการต้มน้ำชงกาแฟ ช่างดำเตรียมเบ็ดเพื่อตกปลาอีกครั้ง บอกผมว่า เมื่อคืนตกอยู่คนเดียวจนถึง ตีหนึ่ง ได้กระเบนขึ้นมาหนึ่งตัวกับปลาเก๋า,หัวเสี้ยมและปลาอื่นอีก 2 ตัวจึงเข้านอน

เรานั่งคุยกันเรื่อยๆ จน ดำ ลากฉลามใบ้ขึ้นมาอีกตัวขนาดสัก3 กิโลฯ ตอนท้องฟ้าเป็นแสงเงิน แสงทอง ไต๋เอกและลูกทัวร์ผู้ชายพยายามลุกขึ้นมาได้ 3 คน แต่ก็ป้อแป้เต็มที

ประมาณ 7 โมงเช้า ไต๋เอก ตัดสินใจถอนสมอเพื่อแล่นกลับภูเก็ต เพราะคลื่นลมยังหนักหน่วงรุนแรง คนที่เมาคลื่นอาการก็แย่ลงเรื่อยๆ เพราะกินน้ำ กินข้าวไม่ได้


เกาะรายา ยามเช้า ก่อนที่เราจะจากมา
------------------------------

ตอนขากลับค่อยสบายหน่อย เพราะเรือแล่นตามคลื่น ไต๋เอก บอกให้ลงเบ็ดราวอีกครั้งเพื่อลาก ทูน่า และก็ไม่ผิดหวัง เพราะได้ขึ้นมาอีก 22 ตัว ก่อนจะเข้าเขตภูเก็ต

เรามาถึงท่าเทียบเรือที่ภูเก็ตเกือบ 11 โมง ลูกทัวร์ ลุกขึ้นมาได้กันหมดทุกคนและเริ่มมีสีหน้าแดงเรื่อขึ้น มาบ้างและคำพูดที่ได้ยินจากปากของหลายคน “เข็ดแล้ว จะไม่ขอออกทะเลอีกต่อไป

ผม,ไต๋เอก,ช่างดำ มองตากันแล้ว ไม่พูดอะไร แต่หันไปเรียก “ไอ้ชิโร่” พร้อมกันเหมือนนัดกันไว้

พบกันใหม่ โอกาสต่อไป สวัสดีครับ

ชำนาญ ณ.อันดามัน

10 สิงหาคม 2553

----------------------------------------------------------------------------

---------

ท่านใดที่ชื่นชอบ กีฬาตกปลาทะเล ต้องการรายละเอียดเพิ่มเติม เกี่ยวกับการเช่าเหมาเรือไปตกปลา

ติดต่อ : ชำนาญ ชูสุวรรณ   E-mail : freestyletrip@gmail.com

----------------------------------------------------------------

วันจันทร์ที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2553

ท่าเรือตำมะลังและปากบารา(จากเรื่องพบผู้ว่าฯสตูล)


ปากอ่าว ตำมะลัง ที่จะออกไปยัง อันดามันใต้ และ ลังกาวี
---------------------------

เล่าต่อจาก วันที่ 6 ก.ค. 53 เรื่อง “ไปสตูล พบผู้ว่าฯ” ความจริง คิดว่าจะเล่าต่อเนื่อง แต่บังเอิญมีเรื่อง “รำลึกความหลังกับ แอ็ด คาราบาว” เข้ามาคั่น จำต้องค้างไว้ เชิญติดตามต่อครับท่านผู้ชม

เช้าวันที่ 7 ก.ค.53 ผมตื่นขึ้นมาด้วยความปวดเมื่อยทั้งตัว จากการขับรถเมื่อวาน(ขับทั้งวันยังกะสิบล้อตีด่วน) กะย่องกะแย่ง(แปลเอาเองก็แล้วกัน) ลงจากเตียงด้วยความทุลักทุเล ทำธุระส่วนตัวอยู่ในห้องน้ำด้วยเวลานานกว่าปกติ เหมือนนักมวยหลังการชก 15 ยก ตามที่เขาว่า (ขออภัยขี้ไม่ออกจริงๆ) นี่หละหนาผลจากการฝืนสังขาร แก่แล้วไม่เจียมบอดี้

จนในที่สุดก็ผ่านพ้นวิกฤตการณ์นั้นออกมานั่งกินกาแฟ ทัศนาวิถีชีวิตชาวบ้านในตลาดสตูลจนสำเร็จ ด้วยบรรยากาศอึมครึม เนื่องจากฝนเริ่มตกปรอยๆ

ผมนั่งละเลียดกาแฟแกล้มกับข้าวต้มมัดรสชาติดี ด้วยความไม่รีบร้อน เพราะยังมีเวลาอีกหลายชั่วโมง กว่าจะได้เข้าพบท่านผู้ว่าฯสุเมธ ชัยเลิศวนิชกุล ที่ศาลากลาง

ในที่สุด หลังจากหมดกาแฟไปหนึ่งถ้วย น้ำชาจีนร้อนๆหนึ่งกาใหญ่ ข้าวต้มมัดสองห่อ บุหรี่สามมวน ผมก็วางแผนการสำรวจเมืองสตูลจนสำเร็จ

ผมออกจากร้านกาแฟในตัวเมืองสตูล ขับรถมุ่งหน้าไปทางทิศตะวันตก อันเป็นที่ตั้งของท่าเรือ “ตำมะลัง” ซึ่งอยู่ใต้สุดของทะเล “อันดามัน” ในเขตแดนราชอาณาจักรไทยติดกับประเทศมาเลเซีย(สารภาพตามตรงว่าผมมาจังหวัดสตูลเป็นครั้งแรกในชีวิต) ผ่านถนนย่านการค้าในตัวเมืองเวลาเจ็ดโมงเช้าเศษๆ ด้วยความสะดวกสบาย การจราจรโล่งว่าง รถราไม่ติดขัด ผมคิดว่าอยู่เมืองเล็กๆมันก็ดีไปอีกอย่าง ไม่ต้องเสียสุขภาพจิตตั้งแต่เช้าเหมือนอยู่เมืองใหญ่

ไม่เกิน 20 นาที กับระยะทางประมาณ 10 กิโลเมตร ผมก็มาถึงท่าเรือ “ตำมะลัง” ที่ดูเงียบเหงามากๆ(อาจจะยังเช้าเกินไปก็เป็นได้) จอดรถที่ลาดจอดซึ่งโล่งโจ้ง กว้างขวาง เสร็จเรียบร้อยแล้วก็หาทางเดินไปยังท่าเทียบเรือที่มองเห็นอยู่ไม่ไกล

กับบรรยากาศยามไม่เช้านัก ฝนปรอยๆ ผมได้ภาพของท่าเทียบเรือระหว่างประเทศ ที่ขัดกับจินตนาการของผมอย่างมาก



กลับจากการ ล่า
----------------
ท่าเรือ “ตำมะลัง” เช้าวันนี้ เงียบจริงๆ ผมมองออกไปทางปากอ่าว อันเป็น“ทะเลอันดามันใต้” เห็นเรือประมงกำลังแล่นเอียงกะเท่เร่เข้ามาลำเดียว เข้าใจว่าต้องได้ปลามามากแน่ๆ



วิถีชีวิตชาวบ้าน ณ.ท่าเทียบเรือระหว่างประเทศ
-----------------------------
บนท่าเทียบเรือ มีชาวบ้านกำลังทอดแหอยู่คนหนึ่งกับมีชาวบ้าน 2-3 คนนั่งอยู่บนเก้าอี้ ที่จัดไว้ให้ผู้โดยสารนั่งพักรอลงเรือ ซึ่งดูแล้วน่าไม่ใช่ผู้โดยสารรอลงเรือ ผมคิดเอาเองว่าที่ยังดูเงียบๆอาจจะเป็นเพราะว่า ยังไม่ถึงเวลาเรือออกก็เป็นได้

ท่าเรือสินค้า ที่อยู่ลึกเข้าไปจากท่าเรือโดยสาร "ตำมะลัง"
---------------------

มองลึกเข้าไปในแม่น้ำจะเห็นท่าเทียบเรือสินค้า "ตำมะลัง" ซึ่งเป็นท่าเรือพานิชย์ ที่ขนส่งสินค้าจากจังหวัดสตูลและใกล้เคียง ไปส่งยังท่าเรือใหญ๋ที่ประเทศมาเลเซียและสิงคโปร์ อีกทอดหนึ่ง

ผมถ่ายรูปไปพลาง หันมองรอบๆไปพลาง เผื่อว่าจะมีใครสักคนที่พอจะให้ข้อมูลเล็กๆน้อยๆกับผมได้บ้าง แล้วผมก็เห็นคนที่ต้องการและเป็นบุคคลที่มีหน้าที่ความรับผิดชอบ ณ ที่นั้นสูงเสียด้วย



คุณคำราม ผู้ซึ่งให้ข้อมูลกับผม
---------------------------
ผมเดินตรงเข้าไปหาพร้อมกับแนะนำตัวเองแล้วถามชื่อเสียงเรียงนาม จนรู้ว่าท่านชื่อ “คุณคำราม” (ชื่อน่ากลัวไม่เบา แต่อัธยาศัยดี) ท่านเป็น รปภ.ดูแลความสงบเรียบร้อยของท่าเรือ “ตำมะลัง”ครับ
หลังจากที่ได้พูดคุย สนทนากันไม่นาน ผมก็ได้ข้อมูลจากคุณคำราม ที่บอกกับผมด้วยความเต็มใจ



เรือเฟอรี่ แล่นระหว่าง ตำมะลัง - ลังกาวี
------------------------------------
คุณคำราม ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการเดินทางไป “เกาะลังกาวี”ประเทศมาเลเซียโดยเรือเฟอรี่ กับผมว่า มีเรือออกจากท่าเรือ “ตำมะลัง” ไป “ลังกาวี” ทุกวัน วันล่ะ 3 เที่ยว ตามตารางการเดินเรือ ด้านล่างครับ

เที่ยวแรก เวลา 09:30 น.

เที่ยวที่สอง เวลา 13:30 น.

เที่ยวสุดท้าย เวลา 16:00 น.

และจาก “ลังกาวี” กลับมา “ตำมะลัง” วันล่ะ 3 เที่ยว เช่นเดียวกัน

เที่ยวแรก เวลา 08:30 น.

เที่ยวที่สอง เวลา 12:30 น.

เที่ยวสุดท้าย เวลา16:00 น.

เรือใช้เวลาแล่น 1 ชั่วโมง (ถ้าเทียบกับภูเก็ต-เกาะพีพี โดยเรือสปีดโบ๊ท ใช้เวลาแล่น 1 ชั่วโมงเหมือนกัน นับว่า ตำมะลัง-ลังกาวี ใกล้กว่ามาก)

ส่วนค่าโดยสาร คนล่ะ 350 บาท ต่อเที่ยว ต่อคน ก็ถือว่าไม่แพงกับการเดินทางไปต่างประเทศ



ห้องขายตั๋วเรือเฟอรี่ ตำมะลัง-ลังกาวี
---------------------
ผมถามถึงการท่องเที่ยว ไป “เกาะหลีเป๊ะ” และ “หมู่เกาะอาดังราวี” หรือ “เกาะตะรุเตา
คุณคำราม บอกว่า สำหรับจากท่าเรือ “ตำมะลัง” มีบริษัททัวร์เปิดให้บริการนักท่องเที่ยวหลายบริษัท เหมือนกัน แต่เปิดเฉพาะหน้าไฮซีซั่นเท่านั้น คือเริ่มตั้งแต่ ปลายเดือนตุลาคม ถึง เดือนพฤษภาคม(เหมือนภูเก็ตเพราะเป็นทะเลอันดามันเช่นกัน) ส่วนช่วงนี้จะปิดกิจการ เพราะเป็นฤดูมรสุม แต่ที่ท่าเรือ “ปากบารา” อ.ละงู จะเปิดบริการตลอดทั้งปี

คุณคำราม ให้ข้อมูลกับผมพอสมควร ด้วยมนุษย์สัมพันธุ์เหมาะกับการทำงาน ณ.สถานที่นี้ เป็นอย่างยิ่ง พร้อมทั้งพาผมเดินไปแนะนำตามจุดต่างๆ ภายในอาคารที่ทำการท่าเรือ บริเวณเคาเตอร์ทัวร์ ช่องขายตั๋วเรือเฟอรี่ ร้านอาหาร ร้านกาแฟและที่พักผู้โดยสาร


เคาเตอร์ทัวร์ ในบริเวณ ท่าเรือ ตำมะลัง
--------------

เมื่อผมกับคุณคำราม เดินคุยกันมาถึงบริเวณที่พักผู้โดยสาร ก็มีหลวงพ่อรูปหนึ่งเข้ามาขอให้คุณคำราม ช่วยนำพาสปอร์ต ไปประทับตราเพื่อการเดินทางไป “ลังกาวี” ซึ่งเท่าที่ผมสังเกตุ พระกับคุณคำราม น่าจะรู้จักสนิทสนมกันดีจากการใช้บริการกันอยู่บ่อยๆ

ขณะที่ คุณคำรามไปทำธุระให้พระ ผมถือโอกาสทำความรู้จักกับพระเสียเลย และเมื่อได้สนทนาวิสาสะกัน ผมจึงได้ทราบชื่อฉายาว่า “พระเกียรติวัฒน์ อิสธิธัมโม” ท่านมาจาก อ.เกาะยอจังหวัดสงขลาโน่น ท่านบอกผมว่าท่านไป “ลังกาวี” บ่อยๆและพรรษานี้อาจจะไปเข้าพรรษาที่โน่น

และเมื่อท่านทราบว่าผมมาจากภูเก็ต ท่านก็ชวนผมไปเที่ยว “ลังกาวี” ด้วยทันที ท่าน Information ภาษาไทยปนอังกฤษให้ผมฟังถึงแหล่งท่องเที่ยวบนเกาะ “ลังกาวี” อย่างคล่องแคล่ว ขนาดไกด์มืออาชีพอย่างผมยังอายเลยครับ และแล้ว สุดท้ายท่านก็เอ่ยปากชวนผมให้ไปซื้อที่ดินบน เกาะลังกาวี ครับท่านผู้ชม ฮ้า..ฮ้า..เจอเข้าจนได้..

ผมรู้ได้ทันทีว่า เพราะผมมาจากภูเก็ตนี่เอง เหมือนครั้งผมไป จ.พิษณุโลกเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ผมแวะเติมน้ำมันรถที่ปั้มน้ำมันบนถนนสายไปเขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ พอพวกเห็นป้ายทะเบียนภูเก็ตเท่านั้นแหละคุณเอ๋ย พวกชวนผมไปซื้อที่ดินปลูกยางพาราทันที เหมือนกัน
คนภูเก็ตในสายตาของคนที่อื่น ไม่ธรรมดาจริงๆ แม้แต่คนธรรมดาๆ อย่างผม

ผมนั่งสนทนากับพระ (ไม่มีเรื่องธรรมะเลย) จนกระทั่ง คุณคำราม กลับมายื่นพาสปอร์ตคืนให้ท่าน (มีการให้ทิปด้วย) ผมจึงขอถ่ายรูปกับพระ(อาจารย์) ก่อนที่ผมจะขอตัวออกมา เพื่อกลับเข้าตัวเมืองสตูล


ผู้เขียนกับพระเกียรติวัฒน์ อิสธิธัมโม
-------------------------------------
 ผมกลับมาถึงที่พักในเมืองสตูลเกือบเที่ยง(ฝนเริ่มตกหนัก) จัดการอาบน้ำเปลี่ยนเสื้อผ้า เช็คเอ๊าท์ ออกมาหาข้าวกินที่ร้านอาหารชื่อ “พริกไทย” ซึ่งอยู่เยื้องๆกับศาลากลางนั่นเอง

กินข้าว กินกาแฟเสร็จแล้วก็นั่งอ้อยสร้อย ฆ่าเวลาจนบ่ายโมงเศษ ฝนตกหนักขึ้นทุกที ผมจึงเข้าไปในศาลากลาง พบกับผู้สื่อข่าว หนังสือพิมพ์ “พลังชน” ประจำ จ.สตูล(ที่ผมเพิ่งจะแต่งตั้งทางโทรศัพท์ตอนที่กำลังขับรถมาจากภูเก็ตเมื่อวาน เอากะผมสิ อิ อิ..) ซึ่งได้โทรนัดหมายกันไว้ก่อนล่วงหน้าแล้ว

ต่อจากนั้นเราก็ชวนกันขึ้นไปที่ห้องผู้ว่าฯ ซึ่งอยู่บนชั้นที่สี่ของตึก(เล่นเอาหอบเหมือนกัน) พบกับคุณแหม่ม(หน้าห้องผู้ว่าฯ)ผู้ที่ได้ช่วยนัดหมายให้ผมได้พบกับท่านผู้ว่าฯ ขอขอบคุณมา ณ.โอกาสนี้ด้วยครับ

เราได้รับทราบจากคุณแหม่มว่า ท่านผู้ว่าฯ ไปแจกรถพ่วง(ข้าง)ให้กับชาวบ้านที่เกาะแห่งหนึ่ง ซึ่งไปทางท่าเรือ ตำมะลัง นั่นแหละ และกำลังเดินทางกลับ เราจึงได้นั่งรอกันอยู่ที่นั่น



ผู้สื่อข่าว "พลังชน" จ.สตูล ท่านผู้ว่าฯสุเมธ และ ผู้เขียน
--------------------------------------

จนกระทั่งบ่าย 2 ครึ่ง ท่านผู้ว่าฯกลับมาถึงที่ห้อง เราจึงได้เข้าพบและอยู่สนทนากับท่านประมาณครึ่งชั่วโมง ถ่ายรูปเสร็จ ก็ขออนุญาตท่านกลับออกมา เป็นอันว่า เสร็จภารกิจการมาจังหวัดสตูลของผมในครั้งนี้

ประมาณบ่าย สามโมงเศษผมร่ำลาผู้สื่อข่าว “พลังชน” ประจำจ.สตูล ขับรถออกมาจากศาลากลางจังหวัด ย้อนออกมาทางสายสตูล-รัตภูมิ(406) แล้วเลี้ยวซ้ายที่สามแยกบ้านฉลุง เข้าเส้นทางเดิม สตูล-ตรัง(416) มุ่งหน้าไป อ.ละงู เพื่อแวะ ท่าเรือ “ปากบารา” ก่อนมืด ขณะที่ฝนกำลังตกหนัก


ท่าเรือ ปากบารา
-----------------
 เกือบๆห้าโมงเย็น ผมถึงท่าเรือ “ปากบารา” ฝนขาดเม็ดแล้ว แต่ท้องฟ้ายังมืดสลัว ผมจอดรถแล้วเดินเลียบๆไปที่ท่าเรือ ปากบารา บรรยากาศ เงียบเหงามาก เห็นเรือท่องเที่ยวเก่าๆจอดอยู่ไม่กี่ลำและไม่มีคนอยู่ในบริเวณนั้นให้เห็นเลย


 

เรือทัวร์ชนิดต่างๆ จอดนิ่งสนิทอยู่ที่ท่าเรือ ปากบารา รอเวลาอีก 5เดือน
------------------------------------
ผมสงสัยว่า จะมีนักเขียนสารคดีท่องเที่ยวซักกี่คน ที่จะมีโอกาสได้มาเห็น ปากบารา ณ.เวลานี้ และถ้าเห็นแล้ว เขาจะรู้สึกยังไง?

ผมถ่ายรูปแค่สองรูป แล้วเดินมาที่ เคาเตอร์ขายทัวร์ ริมถนนด้านนอก ที่เปิดอยู่(เพื่อปรับปรุงและทาสีใหม่) เพียงเคาเตอร์เดียว นอกจากนั้นปิดเงียบทั้งแถว

ผมสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับการเดินทางไปเกาะตะรุเตา เกาะอาดัง-ราวี เกาะหลีเป๊ะ เขาบอกว่า

ในช่วงฤดูมรสุม จะมีเฉพาะ เรือสปีดโบ๊ท ออกจากท่าเรือ “ปากบารา” ในตอนเช้าวันล่ะเที่ยวเท่านั้น มีผู้โดยสารไม่มาก บางวันก็ไม่มี แต่ก็ต้องออกไป เพื่อไป สแตนด์บาย รอรับผู้โดยสารจากเกาะกลับมา “ปากบารา” ในเช้าวันรุ่งขึ้น

ส่วนราคาค่าโดยสารเรือเที่ยวเดียว(ข้อมูลไม่ได้อัปเดทน่ะครับ)

ปากบารา - เกาะตะรุเตา คนล่ะ 350 บาท

ปากบารา - เกาะบุโหลน คนล่ะ 450 บาท

ปากบารา - เกาะหลีเป๊ะ คนล่ะ 650 บาท

 ผมได้ข้อมูล พอสมควร ก็รีบออกมาจากท่าเรือ ปากบารา เพราะท้องฟ้ามืดลงทุกที ผมไม่อยากขับรถ ตอนค่ำๆ บนถนนสายนี้(เพราะกลัวรถบรรทุกน้ำมันเถื่อนจะชนเอา) คิดว่าจะไปมืดสนิท ที่แถวๆ อ.ยานตาขาว ก็ยังดี

ขณะที่ขับรถออกมาจาก ปากบารา ผมมีคำถามอยู่ในใจว่า ถ้ามีท่าเรือน้ำลึกและการท่องเที่ยวยังเหมือนเดิม กับไม่มีท่าเรือน้ำลึกและการท่องเที่ยวยังเหมือนเดิม อะไรจะดีกว่ากัน?..

หมายเหตุ...เมื่อผมกลับมาถึงภูเก็ต ก็มีข่าวชาวบ้านประท้วง เรื่องการสร้างท่าเรือน้ำลึกที่ “ปากบารา”กันแล้วและมีทีท่าว่างานนี้ยาวแน่

ส่วนผม ในฐานะผู้สื่อข่าว ไม่สามารถมีคอมเม้นท์ได้ กลัวใครๆจะว่า เป็นการชี้นำ

แล้วพบกันใหม่ครับ สวัสดี

ชำนาญ ณ.อันดามัน
--------------------------------------