วันจันทร์ที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2553

ท่าเรือตำมะลังและปากบารา(จากเรื่องพบผู้ว่าฯสตูล)


ปากอ่าว ตำมะลัง ที่จะออกไปยัง อันดามันใต้ และ ลังกาวี
---------------------------

เล่าต่อจาก วันที่ 6 ก.ค. 53 เรื่อง “ไปสตูล พบผู้ว่าฯ” ความจริง คิดว่าจะเล่าต่อเนื่อง แต่บังเอิญมีเรื่อง “รำลึกความหลังกับ แอ็ด คาราบาว” เข้ามาคั่น จำต้องค้างไว้ เชิญติดตามต่อครับท่านผู้ชม

เช้าวันที่ 7 ก.ค.53 ผมตื่นขึ้นมาด้วยความปวดเมื่อยทั้งตัว จากการขับรถเมื่อวาน(ขับทั้งวันยังกะสิบล้อตีด่วน) กะย่องกะแย่ง(แปลเอาเองก็แล้วกัน) ลงจากเตียงด้วยความทุลักทุเล ทำธุระส่วนตัวอยู่ในห้องน้ำด้วยเวลานานกว่าปกติ เหมือนนักมวยหลังการชก 15 ยก ตามที่เขาว่า (ขออภัยขี้ไม่ออกจริงๆ) นี่หละหนาผลจากการฝืนสังขาร แก่แล้วไม่เจียมบอดี้

จนในที่สุดก็ผ่านพ้นวิกฤตการณ์นั้นออกมานั่งกินกาแฟ ทัศนาวิถีชีวิตชาวบ้านในตลาดสตูลจนสำเร็จ ด้วยบรรยากาศอึมครึม เนื่องจากฝนเริ่มตกปรอยๆ

ผมนั่งละเลียดกาแฟแกล้มกับข้าวต้มมัดรสชาติดี ด้วยความไม่รีบร้อน เพราะยังมีเวลาอีกหลายชั่วโมง กว่าจะได้เข้าพบท่านผู้ว่าฯสุเมธ ชัยเลิศวนิชกุล ที่ศาลากลาง

ในที่สุด หลังจากหมดกาแฟไปหนึ่งถ้วย น้ำชาจีนร้อนๆหนึ่งกาใหญ่ ข้าวต้มมัดสองห่อ บุหรี่สามมวน ผมก็วางแผนการสำรวจเมืองสตูลจนสำเร็จ

ผมออกจากร้านกาแฟในตัวเมืองสตูล ขับรถมุ่งหน้าไปทางทิศตะวันตก อันเป็นที่ตั้งของท่าเรือ “ตำมะลัง” ซึ่งอยู่ใต้สุดของทะเล “อันดามัน” ในเขตแดนราชอาณาจักรไทยติดกับประเทศมาเลเซีย(สารภาพตามตรงว่าผมมาจังหวัดสตูลเป็นครั้งแรกในชีวิต) ผ่านถนนย่านการค้าในตัวเมืองเวลาเจ็ดโมงเช้าเศษๆ ด้วยความสะดวกสบาย การจราจรโล่งว่าง รถราไม่ติดขัด ผมคิดว่าอยู่เมืองเล็กๆมันก็ดีไปอีกอย่าง ไม่ต้องเสียสุขภาพจิตตั้งแต่เช้าเหมือนอยู่เมืองใหญ่

ไม่เกิน 20 นาที กับระยะทางประมาณ 10 กิโลเมตร ผมก็มาถึงท่าเรือ “ตำมะลัง” ที่ดูเงียบเหงามากๆ(อาจจะยังเช้าเกินไปก็เป็นได้) จอดรถที่ลาดจอดซึ่งโล่งโจ้ง กว้างขวาง เสร็จเรียบร้อยแล้วก็หาทางเดินไปยังท่าเทียบเรือที่มองเห็นอยู่ไม่ไกล

กับบรรยากาศยามไม่เช้านัก ฝนปรอยๆ ผมได้ภาพของท่าเทียบเรือระหว่างประเทศ ที่ขัดกับจินตนาการของผมอย่างมาก



กลับจากการ ล่า
----------------
ท่าเรือ “ตำมะลัง” เช้าวันนี้ เงียบจริงๆ ผมมองออกไปทางปากอ่าว อันเป็น“ทะเลอันดามันใต้” เห็นเรือประมงกำลังแล่นเอียงกะเท่เร่เข้ามาลำเดียว เข้าใจว่าต้องได้ปลามามากแน่ๆ



วิถีชีวิตชาวบ้าน ณ.ท่าเทียบเรือระหว่างประเทศ
-----------------------------
บนท่าเทียบเรือ มีชาวบ้านกำลังทอดแหอยู่คนหนึ่งกับมีชาวบ้าน 2-3 คนนั่งอยู่บนเก้าอี้ ที่จัดไว้ให้ผู้โดยสารนั่งพักรอลงเรือ ซึ่งดูแล้วน่าไม่ใช่ผู้โดยสารรอลงเรือ ผมคิดเอาเองว่าที่ยังดูเงียบๆอาจจะเป็นเพราะว่า ยังไม่ถึงเวลาเรือออกก็เป็นได้

ท่าเรือสินค้า ที่อยู่ลึกเข้าไปจากท่าเรือโดยสาร "ตำมะลัง"
---------------------

มองลึกเข้าไปในแม่น้ำจะเห็นท่าเทียบเรือสินค้า "ตำมะลัง" ซึ่งเป็นท่าเรือพานิชย์ ที่ขนส่งสินค้าจากจังหวัดสตูลและใกล้เคียง ไปส่งยังท่าเรือใหญ๋ที่ประเทศมาเลเซียและสิงคโปร์ อีกทอดหนึ่ง

ผมถ่ายรูปไปพลาง หันมองรอบๆไปพลาง เผื่อว่าจะมีใครสักคนที่พอจะให้ข้อมูลเล็กๆน้อยๆกับผมได้บ้าง แล้วผมก็เห็นคนที่ต้องการและเป็นบุคคลที่มีหน้าที่ความรับผิดชอบ ณ ที่นั้นสูงเสียด้วย



คุณคำราม ผู้ซึ่งให้ข้อมูลกับผม
---------------------------
ผมเดินตรงเข้าไปหาพร้อมกับแนะนำตัวเองแล้วถามชื่อเสียงเรียงนาม จนรู้ว่าท่านชื่อ “คุณคำราม” (ชื่อน่ากลัวไม่เบา แต่อัธยาศัยดี) ท่านเป็น รปภ.ดูแลความสงบเรียบร้อยของท่าเรือ “ตำมะลัง”ครับ
หลังจากที่ได้พูดคุย สนทนากันไม่นาน ผมก็ได้ข้อมูลจากคุณคำราม ที่บอกกับผมด้วยความเต็มใจ



เรือเฟอรี่ แล่นระหว่าง ตำมะลัง - ลังกาวี
------------------------------------
คุณคำราม ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการเดินทางไป “เกาะลังกาวี”ประเทศมาเลเซียโดยเรือเฟอรี่ กับผมว่า มีเรือออกจากท่าเรือ “ตำมะลัง” ไป “ลังกาวี” ทุกวัน วันล่ะ 3 เที่ยว ตามตารางการเดินเรือ ด้านล่างครับ

เที่ยวแรก เวลา 09:30 น.

เที่ยวที่สอง เวลา 13:30 น.

เที่ยวสุดท้าย เวลา 16:00 น.

และจาก “ลังกาวี” กลับมา “ตำมะลัง” วันล่ะ 3 เที่ยว เช่นเดียวกัน

เที่ยวแรก เวลา 08:30 น.

เที่ยวที่สอง เวลา 12:30 น.

เที่ยวสุดท้าย เวลา16:00 น.

เรือใช้เวลาแล่น 1 ชั่วโมง (ถ้าเทียบกับภูเก็ต-เกาะพีพี โดยเรือสปีดโบ๊ท ใช้เวลาแล่น 1 ชั่วโมงเหมือนกัน นับว่า ตำมะลัง-ลังกาวี ใกล้กว่ามาก)

ส่วนค่าโดยสาร คนล่ะ 350 บาท ต่อเที่ยว ต่อคน ก็ถือว่าไม่แพงกับการเดินทางไปต่างประเทศ



ห้องขายตั๋วเรือเฟอรี่ ตำมะลัง-ลังกาวี
---------------------
ผมถามถึงการท่องเที่ยว ไป “เกาะหลีเป๊ะ” และ “หมู่เกาะอาดังราวี” หรือ “เกาะตะรุเตา
คุณคำราม บอกว่า สำหรับจากท่าเรือ “ตำมะลัง” มีบริษัททัวร์เปิดให้บริการนักท่องเที่ยวหลายบริษัท เหมือนกัน แต่เปิดเฉพาะหน้าไฮซีซั่นเท่านั้น คือเริ่มตั้งแต่ ปลายเดือนตุลาคม ถึง เดือนพฤษภาคม(เหมือนภูเก็ตเพราะเป็นทะเลอันดามันเช่นกัน) ส่วนช่วงนี้จะปิดกิจการ เพราะเป็นฤดูมรสุม แต่ที่ท่าเรือ “ปากบารา” อ.ละงู จะเปิดบริการตลอดทั้งปี

คุณคำราม ให้ข้อมูลกับผมพอสมควร ด้วยมนุษย์สัมพันธุ์เหมาะกับการทำงาน ณ.สถานที่นี้ เป็นอย่างยิ่ง พร้อมทั้งพาผมเดินไปแนะนำตามจุดต่างๆ ภายในอาคารที่ทำการท่าเรือ บริเวณเคาเตอร์ทัวร์ ช่องขายตั๋วเรือเฟอรี่ ร้านอาหาร ร้านกาแฟและที่พักผู้โดยสาร


เคาเตอร์ทัวร์ ในบริเวณ ท่าเรือ ตำมะลัง
--------------

เมื่อผมกับคุณคำราม เดินคุยกันมาถึงบริเวณที่พักผู้โดยสาร ก็มีหลวงพ่อรูปหนึ่งเข้ามาขอให้คุณคำราม ช่วยนำพาสปอร์ต ไปประทับตราเพื่อการเดินทางไป “ลังกาวี” ซึ่งเท่าที่ผมสังเกตุ พระกับคุณคำราม น่าจะรู้จักสนิทสนมกันดีจากการใช้บริการกันอยู่บ่อยๆ

ขณะที่ คุณคำรามไปทำธุระให้พระ ผมถือโอกาสทำความรู้จักกับพระเสียเลย และเมื่อได้สนทนาวิสาสะกัน ผมจึงได้ทราบชื่อฉายาว่า “พระเกียรติวัฒน์ อิสธิธัมโม” ท่านมาจาก อ.เกาะยอจังหวัดสงขลาโน่น ท่านบอกผมว่าท่านไป “ลังกาวี” บ่อยๆและพรรษานี้อาจจะไปเข้าพรรษาที่โน่น

และเมื่อท่านทราบว่าผมมาจากภูเก็ต ท่านก็ชวนผมไปเที่ยว “ลังกาวี” ด้วยทันที ท่าน Information ภาษาไทยปนอังกฤษให้ผมฟังถึงแหล่งท่องเที่ยวบนเกาะ “ลังกาวี” อย่างคล่องแคล่ว ขนาดไกด์มืออาชีพอย่างผมยังอายเลยครับ และแล้ว สุดท้ายท่านก็เอ่ยปากชวนผมให้ไปซื้อที่ดินบน เกาะลังกาวี ครับท่านผู้ชม ฮ้า..ฮ้า..เจอเข้าจนได้..

ผมรู้ได้ทันทีว่า เพราะผมมาจากภูเก็ตนี่เอง เหมือนครั้งผมไป จ.พิษณุโลกเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ผมแวะเติมน้ำมันรถที่ปั้มน้ำมันบนถนนสายไปเขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ พอพวกเห็นป้ายทะเบียนภูเก็ตเท่านั้นแหละคุณเอ๋ย พวกชวนผมไปซื้อที่ดินปลูกยางพาราทันที เหมือนกัน
คนภูเก็ตในสายตาของคนที่อื่น ไม่ธรรมดาจริงๆ แม้แต่คนธรรมดาๆ อย่างผม

ผมนั่งสนทนากับพระ (ไม่มีเรื่องธรรมะเลย) จนกระทั่ง คุณคำราม กลับมายื่นพาสปอร์ตคืนให้ท่าน (มีการให้ทิปด้วย) ผมจึงขอถ่ายรูปกับพระ(อาจารย์) ก่อนที่ผมจะขอตัวออกมา เพื่อกลับเข้าตัวเมืองสตูล


ผู้เขียนกับพระเกียรติวัฒน์ อิสธิธัมโม
-------------------------------------
 ผมกลับมาถึงที่พักในเมืองสตูลเกือบเที่ยง(ฝนเริ่มตกหนัก) จัดการอาบน้ำเปลี่ยนเสื้อผ้า เช็คเอ๊าท์ ออกมาหาข้าวกินที่ร้านอาหารชื่อ “พริกไทย” ซึ่งอยู่เยื้องๆกับศาลากลางนั่นเอง

กินข้าว กินกาแฟเสร็จแล้วก็นั่งอ้อยสร้อย ฆ่าเวลาจนบ่ายโมงเศษ ฝนตกหนักขึ้นทุกที ผมจึงเข้าไปในศาลากลาง พบกับผู้สื่อข่าว หนังสือพิมพ์ “พลังชน” ประจำ จ.สตูล(ที่ผมเพิ่งจะแต่งตั้งทางโทรศัพท์ตอนที่กำลังขับรถมาจากภูเก็ตเมื่อวาน เอากะผมสิ อิ อิ..) ซึ่งได้โทรนัดหมายกันไว้ก่อนล่วงหน้าแล้ว

ต่อจากนั้นเราก็ชวนกันขึ้นไปที่ห้องผู้ว่าฯ ซึ่งอยู่บนชั้นที่สี่ของตึก(เล่นเอาหอบเหมือนกัน) พบกับคุณแหม่ม(หน้าห้องผู้ว่าฯ)ผู้ที่ได้ช่วยนัดหมายให้ผมได้พบกับท่านผู้ว่าฯ ขอขอบคุณมา ณ.โอกาสนี้ด้วยครับ

เราได้รับทราบจากคุณแหม่มว่า ท่านผู้ว่าฯ ไปแจกรถพ่วง(ข้าง)ให้กับชาวบ้านที่เกาะแห่งหนึ่ง ซึ่งไปทางท่าเรือ ตำมะลัง นั่นแหละ และกำลังเดินทางกลับ เราจึงได้นั่งรอกันอยู่ที่นั่น



ผู้สื่อข่าว "พลังชน" จ.สตูล ท่านผู้ว่าฯสุเมธ และ ผู้เขียน
--------------------------------------

จนกระทั่งบ่าย 2 ครึ่ง ท่านผู้ว่าฯกลับมาถึงที่ห้อง เราจึงได้เข้าพบและอยู่สนทนากับท่านประมาณครึ่งชั่วโมง ถ่ายรูปเสร็จ ก็ขออนุญาตท่านกลับออกมา เป็นอันว่า เสร็จภารกิจการมาจังหวัดสตูลของผมในครั้งนี้

ประมาณบ่าย สามโมงเศษผมร่ำลาผู้สื่อข่าว “พลังชน” ประจำจ.สตูล ขับรถออกมาจากศาลากลางจังหวัด ย้อนออกมาทางสายสตูล-รัตภูมิ(406) แล้วเลี้ยวซ้ายที่สามแยกบ้านฉลุง เข้าเส้นทางเดิม สตูล-ตรัง(416) มุ่งหน้าไป อ.ละงู เพื่อแวะ ท่าเรือ “ปากบารา” ก่อนมืด ขณะที่ฝนกำลังตกหนัก


ท่าเรือ ปากบารา
-----------------
 เกือบๆห้าโมงเย็น ผมถึงท่าเรือ “ปากบารา” ฝนขาดเม็ดแล้ว แต่ท้องฟ้ายังมืดสลัว ผมจอดรถแล้วเดินเลียบๆไปที่ท่าเรือ ปากบารา บรรยากาศ เงียบเหงามาก เห็นเรือท่องเที่ยวเก่าๆจอดอยู่ไม่กี่ลำและไม่มีคนอยู่ในบริเวณนั้นให้เห็นเลย


 

เรือทัวร์ชนิดต่างๆ จอดนิ่งสนิทอยู่ที่ท่าเรือ ปากบารา รอเวลาอีก 5เดือน
------------------------------------
ผมสงสัยว่า จะมีนักเขียนสารคดีท่องเที่ยวซักกี่คน ที่จะมีโอกาสได้มาเห็น ปากบารา ณ.เวลานี้ และถ้าเห็นแล้ว เขาจะรู้สึกยังไง?

ผมถ่ายรูปแค่สองรูป แล้วเดินมาที่ เคาเตอร์ขายทัวร์ ริมถนนด้านนอก ที่เปิดอยู่(เพื่อปรับปรุงและทาสีใหม่) เพียงเคาเตอร์เดียว นอกจากนั้นปิดเงียบทั้งแถว

ผมสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับการเดินทางไปเกาะตะรุเตา เกาะอาดัง-ราวี เกาะหลีเป๊ะ เขาบอกว่า

ในช่วงฤดูมรสุม จะมีเฉพาะ เรือสปีดโบ๊ท ออกจากท่าเรือ “ปากบารา” ในตอนเช้าวันล่ะเที่ยวเท่านั้น มีผู้โดยสารไม่มาก บางวันก็ไม่มี แต่ก็ต้องออกไป เพื่อไป สแตนด์บาย รอรับผู้โดยสารจากเกาะกลับมา “ปากบารา” ในเช้าวันรุ่งขึ้น

ส่วนราคาค่าโดยสารเรือเที่ยวเดียว(ข้อมูลไม่ได้อัปเดทน่ะครับ)

ปากบารา - เกาะตะรุเตา คนล่ะ 350 บาท

ปากบารา - เกาะบุโหลน คนล่ะ 450 บาท

ปากบารา - เกาะหลีเป๊ะ คนล่ะ 650 บาท

 ผมได้ข้อมูล พอสมควร ก็รีบออกมาจากท่าเรือ ปากบารา เพราะท้องฟ้ามืดลงทุกที ผมไม่อยากขับรถ ตอนค่ำๆ บนถนนสายนี้(เพราะกลัวรถบรรทุกน้ำมันเถื่อนจะชนเอา) คิดว่าจะไปมืดสนิท ที่แถวๆ อ.ยานตาขาว ก็ยังดี

ขณะที่ขับรถออกมาจาก ปากบารา ผมมีคำถามอยู่ในใจว่า ถ้ามีท่าเรือน้ำลึกและการท่องเที่ยวยังเหมือนเดิม กับไม่มีท่าเรือน้ำลึกและการท่องเที่ยวยังเหมือนเดิม อะไรจะดีกว่ากัน?..

หมายเหตุ...เมื่อผมกลับมาถึงภูเก็ต ก็มีข่าวชาวบ้านประท้วง เรื่องการสร้างท่าเรือน้ำลึกที่ “ปากบารา”กันแล้วและมีทีท่าว่างานนี้ยาวแน่

ส่วนผม ในฐานะผู้สื่อข่าว ไม่สามารถมีคอมเม้นท์ได้ กลัวใครๆจะว่า เป็นการชี้นำ

แล้วพบกันใหม่ครับ สวัสดี

ชำนาญ ณ.อันดามัน
--------------------------------------

2 ความคิดเห็น:

  1. เดี๋ยวนี้ฝีมือฉับแล้วนิท่านพี่หลวง เตรียมพิมพ์ขายได้แล้ว สารคดีท่องเที่ยวแบบชำนาญ ณ อันดามัน

    "ตะลอนทะเล ร่อนเร่ขึ้นเกาะ เลาะล่าหาฝัน"

    พาตะลุยแบบโหดมันฮาโดย ชำนาญ ณ อันดามัน

    รับรองหรอยแรง ขายลุยเหม็ด เชื่อพ้มตะพี่หลวง แหะๆ

    ตอบลบ
  2. เอาแน่เรอะ? บ้ายุเหมือนกันนะจะบอกให้
    ไหนลองลำดับมาถี ว่าจะเริ่มยังไง เอาตอนไหนขึ้น เอาตอนไหนลง แล้วมันจะลงอีท่าไหน?ลองชี้แนะมาดู(ยกให้เป็นผู้จัดการเลยเอา) เพราะไม่เคยรู้ ไม่เคยทำ ไม่มีประสพการณ์ ได้แต่เขียนแปะใว้แบบนี้ ไม่มีคนอ่านก็อ่านเอง
    ว่าแต่ว่า เขียนแบบนี้ จะมีคนแบบไหน ควักตังค์ซื้อไปอ่านหือ? สมัยนี้สตุ้ง สตังค์ยิ่งหายากอยู่ด้วย

    ช่วงนี้หน้าฝน ถ้าไม่ออกภาคสนามส่วนใหญ่จะอยู่หน้าคอมพ์ฯ จึงมีเวลาโม้มากหน่อย อิ อิ
    สบายดีน่ะคุณน้อง

    ตอบลบ

อ่านเรื่องราวกันก่อนแล้วค่อยต้ดสินใจและแบ่งปัน