วันพุธที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2554

แอ่วเหนือ เมื่อต้นหนาว(ตอน3) เมืองปาย

        เราออกจากร้านอาหารอิสลาม หลังจากหนังท้องพอตึงๆ มุ่งหน้าขึ้นดอย เลียบหน้าผา วกไปวนมา โดยไม่มีทางตรงอีก 762 โค้ง ก็ถึงด่านแรกที่จะเข้าสู่เมืองปาย นั่นคือสะพานประวัติศาสตร์ ซึ่งสร้างโดยกองทัพญี่ปุ่นเมื่อสมัยมหาสงครามเอเชียบูรพา เพื่อใช้ลำเลียงยุทโธปกรณ์ข้ามลำน้ำปายไปยังประเทศพม่า แต่ผมจะไม่เล่าเรื่องราวความเป็นมาของสะพานประวัติศาสตร์นั้น ถ้าหากใครสนใจใคร่รู้ความเป็นมา ก็หาอ่านได้ไม่ยากตามเว็บไซต์



          ตรงคอสะพานประวัติศาสตร์นั้น มีบอร์ดเขียนประวัติความเป็นมาของสะพาน พร้อมภาพถ่ายเมื่อสมัยนั้นประกอบคำอธิบาย ส่วนบนสะพานมีรถสามล้อถีบและรถมอเตอร์ไซต์สามล้อพ่วงข้างแบบของกองทัพนาซี ทำสีฉุดฉาดแตะตา จอดไว้ให้นักท่องเที่ยวได้ถ่ายภาพเป็นที่ระลึก ซึ่งนับเป็นไอเดียที่เข้าท่าทีเดียว



          ส่วนริมถนนที่ขาดสียไม่ได้ ก็คือร้านขายเสื้อผ้า ของกิน ของใช้และของที่ระลึกสำหรับนักท่องเที่ยว เหมือนเมืองท่องเที่ยวทั่วๆไป ผมเก็บภาพตามธรรมเนียมปฏิบัติ ก่อนจะขึ้นรถข้ามสะพานคอนกรีตมุ่งหน้าเข้าสู่เขตเมืองปาย

          จุดถัดมาที่จะผ่านเลยไปไม่ได้ ก็คือร้านกาแฟที่มีชื่อเสียงของเมืองปาย เพราะตั้งอยู่ในทำเลที่สวยงาม ประกอบกับการออกแบบที่ลงตัว จึงเป็นจุดที่นักท่องเที่ยวจะต้องหยุดถ่ายภาพไว้เป็นที่ระลึก และบอกเล่ากันปากต่อปาก จนทำให้ร้านกาแฟร้านนั้นมีชื่อเสียงโดงดังไปโดยปริยาย แต่รสชาดจะเป็นอย่างไร คงบอกไม่ได้เพราะผมไม่ได้ลองชิม และจุดมุ่งหมายที่แท้จริงของผมก่อนที่จะซดกาแฟของร้านใดๆ คือต้องไปชิมกาแฟที่ร้านสหายชาวดินแต่มาอยู่บนดอย ซึ่งเธอบอกว่าอยู่ในตัวเมืองปาย
          เราอยู่ที่จุดนั้นไม่กี่นาทีก็ออกมา เพราะอากาศยามบ่ายค่อนข้างร้อน ต้นหนาวบนดอยปีนี้ ยังไม่มีลมหนาว วิวทิวทัศน์ของเมืองปายยังดูแห้งแล้ง ไม่ค่อยสวยงามเท่าที่ควร

          ก่อนจะเข้าตัวเมือง ผมโทรไปหาสหายเจ้าของร้านกาแฟ ถามถึงถนนที่จะไปยังร้านของเธอ ซึ่งฟังแล้วก็ไม่น่าจะไปยาก แต่กลับไปยาก เพราะเมื่อเข้าเขตตัวเมือง ถนนค่อนข้างแคบ การจราจรคับคั่งพอสมควร ถนนบางสายเป็นวันเวย์ และที่ยากเข้าไปอีกเนื่องจากร้านของเธอตั้งอยู่บนถนนคนเดิน ซึ่งขณะเวลานั้น เขาเริ่มปิดการจราจร
หลังจากหลงอยู่หลายรอบ ผมตัดสินใจขับฝ่าป้ายห้ามเข้า
เสี่ยงวัดดวงกับตำรวจจราจรเมืองปาย..
ในที่สุด ผมก็ไปถึงหน้าร้านของเธอจนได้ เฮอะ เฮอะ เฮอะ!..

          เราได้เจอกันหลังจากที่เธอกลับมาจากไปตามหาผม โดยการขี่มอเตอร์ไซต์..
เราทักทายกันเหมือนคนที่เคยรู้จักกันมาสัก 20 ปี ทั้งๆที่นั่น!..เป็นการพบเห็นตัวจริงเป็นๆ กันครั้งแรก!!!!.
          เฮ้อ....เฟสบุ๊ค..ก็ให้อะไรดีๆ มากมายเหมือนกัน นอกเหนือจากการที่ “เศษมนุษย์ใช้หลอกนักเรียนไปข่มขืน”
          All About Coffee” คือชื่อร้านกาแฟของสหายชาวดอย เป็นร้านเล็กๆ ไม่หรูหรา ตกแต่งง่ายๆแบบอ๊าร์ทและแกเลอรี่(ผมไม่แน่ใจว่าจะเข้าใจถูกต้อง) ตามรสนิยมของเจ้าของร้าน แต่ก็ดูดีและมีคลาสฯ..ว่าเข้าไปนั่น อิอิ..




          พวกเราได้ชิมรสชาดกาแฟของเธอ (ตามความตั้งใจมา 1,000 กว่ากิโลฯ) และนั่งพูดคุย สนทนา เรื่องราวสัพเพเหระต่างๆ อีกทั้งความเป็นมาของร้านกาแฟร้านนี้ เธอบอกว่า เป็นร้านแรกของเมืองปาย ซึ่งเธอมาเปิดกิจการ หลังจากจบการศึกษามหาลัยที่เมืองกรุง เมื่อหลายปีมาแล้ว
          เธอถามถึงที่พักของพวกเราที่นี่! คืนนี้! ผมบอกว่ายังไม่มี เธอจึงโทรจองที่พักให้เราเสร็จสรรพ บอกว่าเป็นของพรรคพวกของเธอ ห่างออกไปจากตัวตลาดนิดหน่อย อยู่หลังวัด!??..
หลังจากนั่งเสวนาเวลาผ่านไปพอสมควร เรานัดแนะกันว่าค่ำๆของคืนนี้ ควรจะมี “มีทติ้ง”กันที่ไหนสักแห่ง เพื่อกระชับสัมพันธ์ไมตรีให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น
เธอตกลงตามนั้น! แล้วพวกเราก็ขอตัวออกมา เพื่อไปสำรวจที่พัก ที่เธอจองไว้ให้เป็นอันดับแรก ต่อจากนั้นจึงได้ขับรถตระเวณชมเมืองปาย พร้อมๆกับมองหาทำเลเหมาะๆ เพื่อจะได้นั่งร่ำเมรัยซึมซับกับบรรยากาศยามสนธยาของเมืองปาย เมืองในฝันของนักท่องเที่ยวทั้งไทยและเทศ
พวกเราตระเวณเข้าซอกเล็กซอยน้อย ข้ามสะพานไปอีกฝั่งของแม่น้ำปาย เพื่อหาทำเลเหมาะๆจนกระทั่งเกือบย่ำค่ำก็ยังหาที่ที่พอใจไม่ได้ ส่วนที่ที่มองเห็นอยู่ริมแม่น้ำฝั่งตรงข้าม ซึ่งดูบรรยากาศ ทำเลที่ตั้งแล้ว เห็นว่าน่าจะเหมาะสม ก็ยังไม่รู้ว่าจะไปให้ถึงได้โดยเส้นทางไหน
และในขณะที่ผมเก้ๆกังๆกำลังจะกลับรถอยู่นั้น ก็มีรถมอเตอร์ไซต์ 2 คัน แล่นมาจอดพรืดขวางหน้ารถเราดื้อๆ!!!.
ซ้อนกันมาด้วยผู้ชายหนุ่มๆ 4 คน หน้าตา ผิวพรรณ เหมือนชาวเขาเผ่าแม้ว แล้วคนหนึ่งก็ลงจากท้ายรถ เดินตรงมาที่รถเรา!...
ผมนึกในใจว่า น่าจะมีอะไรไม่เข้าทีซะแล้ว เพราะลักษณะแบบนี้ ตามวิถีนักเลง มันหมายถึงการมีปัญหาแน่ๆ
ผมทำใจดีสู้แม้ว..ลดกระจกลง ชะโงกหน้าออกไป
ถามอย่างสุภาพว่า “จะให้ช่วยอะไรได้บ้างครับ?”
แต่หมอนั่นกลับพูดเป็นภาษาปะกิต..
ถามผมกลับมาว่า “วัดที่มีพระใหญ่ๆ ไปทางไหน?”
อ้ายฉิบหาย!...ครั้งแรก ผมนึกว่าเป็นพี่แม้วขาใหญ่เจ้าถิ่น ตามมาเอาเรื่อง!..
ที่ไหนได้ กลายเป็นพี่ยุ่นนักท่องเที่ยว หลงทาง!..
แต่ก็โล่งอก จากความ ระทึก ฉึก ฉึก...
ผมส่ายหน้าเป็นพัดลม พร้อมกับบอกหมอไปว่า “ไอก็กำลังหลงหาทิศไม่เจอเหมือนเอ็งนั่นแหละอ้ายเกลอเอ๋ย..ไปถามคนอื่นเถอะ!
นั่นแหละ หมอจึงได้ ซอรี่..แทงกิ้ว..ยิ้มหน้าจืดๆ เดินกลับไปซ้อนท้ายมอไซต์..
พวกเราหันมามองหน้ากัน หัวเราะก๊าก!!!.. ก่อนที่ผมจะกลับหัวรถ ขึ้นสะพานข้ามแม่น้ำปาย ไปหาทางเข้าร้านอาหารริมน้ำปายที่มองเห็นอยู่ฝั่งตรงข้าม
ผมใช้ความพยายามเหมือนหมาจะกินปลากระป๋อง กว่าจะเข้าไปถึงร้านอาหารนั้นได้!..

พวกเรานั่งจิบน้ำเมรัย กินลม ชมทิวทัศน์ของแม่น้ำปายยามโพล้เพล้ จนกระทั่ง 2 ทุ่มเศษ สหายชาวดอยของผมจึงได้มาสมทบ
เธอมาคนเดียว!..
ผมถามว่า ทำไมไม่พาครอบครัวมาด้วย?
เธอบอกว่าสามีกับลูกชาย เธอส่งกลับบ้านไปพักผ่อนแล้ว..
         อ๊ะ!..เธอคงเป็นหัวหน้าครอบครัว..ผมนึกในใจ ฮา ฮา ฮา..

3 หนุ่มหงอม กับ 1 สาวห้าว นั่งพูดคุย เสวนา ชนแก้วกันกระทั่งหมดไปกลมใหญ่ พวกเราจึงได้ไปส่งเธอที่บ้าน และสัญญาว่าจะพบกันที่ร้านกาแฟของเธอในเช้าวันรุ่งขึ้น
หลังจากนั้น พวกเราจึงกลับมาเกร่อยู่ในถนนคนเดิน ที่มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ เดินชมและซื้อหาสิ้นค้าที่มีอยู่มากมาย หลากหลาย ทั้งเครื่องดื่ม อาหาร เครื่องใช้ เสื้อผ้า ของที่ระลึกต่างๆ




จนเวลาล่วงเลย กระทั่งพ่อค้า แม่ขายเริ่มเก็บร้าน พวกเราจึงได้แวะร้านข้าวต้มใกล้ๆแถวนั้น(ซึ่งไม่เหมือนที่เถิน) เพื่อรองท้องก่อนกลับไปพักยกเอาแรง ที่รีสอร์ทหลังวัด?????..
แต่..ในขณะที่เรากำลังเดินกลับไปที่รถ..
มาอีกแล้วครับท่าน!...
วัยรุ่น หนุ่ม-สาว ประมาณ 4-5 คน เดินเข้ามาหาเรา...
“ลุง..ลุง.. ที่ว่าการอำเภอปายไปทางไหนครับ?”
“พวกลุงก็เพิ่งมาถึงวันนี้เหมือนกันแหละ อ้ายหลานเอ๊ย!
เฮ้อ...นี่พวกเราคงจะดูคล้ายกะเหรี่ยงแน่ๆเลย.

***รอติดตาม "แอ่วเหนือ เมื่อต้นหนาว(ตอน 4)หมู่บ้านไทใหญ่" ***

วันจันทร์ที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2554

แอ่วเหนือ เมื่อต้นหนาว(ตอนที่2) กาดทุ่งเกวียน-ห้วยน้ำดัง

          เช้าของวันที่สาม (13 พ.ย.54) พวกเราเช็คเอ้าท์ออกมาจากบ้านน๊อกดาวน์ที่อำเภอเถิน ประมาณ 7 โมงเช้าเศษๆ แวะกินกาแฟที่ปั๊มน้ำมันแห่งหนึ่ง ต่อจากนั้นก็มุ่งหน้าขึ้นเหนือต่อไป
          กระทั่งถึง “กาดทุ่งเกวียน” ตลาดนัดค้าขายของที่ระลึกสำหรับนักท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียง ริมถนนสายเอเซีย เถิน-เชียงใหม่
          ผมใช้เวลาหลายนาที สำหรับการหาที่จอดรถ หลังจากโยกไปหน้า โยกถอยหลัง สอง สามครั้ง พอเข้าที่และดับเครื่องยนต์ สหายทั้งสองลงจากรถไปก่อนและไปยืนคุยอยู่กับแม่ค้าสาวที่คะยั้น คะยอให้ซื้อสินค้าอะไรบางอย่าง แต่สหายทั้งสองของผมส่ายหน้าและเดินหนีเข้าไปในตัวตลาด ส่วนผมล่าช้าอยู่กับการล็อคประตูรถและตรวจดูความเรียบร้อยในการจอด และเมื่อกำลังจะข้ามถนนตามสหายไป แม่ค้าคนนั้นก็มายืนขวางหน้า พร้อมกับชูสินค้าชิ้นหนึ่งให้ผมดูและเปิดการขายทันที!..
สินค้าชิ้นแรกที่แม่ค้านำเสนอขาย

          “คุงขา..ไปแอ่วเมืองเหนือ คุง..ทกลองใช้อังนี่ซี ลีมักมัก หนา” สำเนียง บ่งบอกชัดเจนว่า
เธอไม่ใช่คนพื้นราบ
          “ไม่เอาหละ” ผมปฏิเสธ พร้อมกับส่ายหน้า
          “ทะ มาย ม่ายเอา?”  เธอทำหน้าสงสัยและพูดต่อว่า “อังนี้ ทาแล้วทงลีหนา”  บอกวิธีใช้และโฆษณาสรรพคุณเสร็จสรรพ
“ไม่ต้องใช้ก็ทนอยู่แล้ว!.” ผมบอกเธอยิ้มๆและส่ายหน้าปฏิเสธอีก
แต๋เธอก็ไม่ยอมลดละ พร้อมกับเปลี่ยนสินค้าชิ้นใหม่มาให้ผมดู
สินค้าชิ้นที่สอง ที่นำเสนอ

          “ยางง้าน เอาอังนี้ ไปใช้ลู ระรอง ท้างหญ่าย ท้างยาว สาสาติกจายทูกคง” เธอพูดหน้าตาขึงขัง จริงจัง น่าเชื่อถือ!!!!..
          ผมเกือบจนตรอก เพราะคิดไม่ออกว่าจะสลัดให้หลุดออกมาจากเธอได้ยังไง!?..
แต่..ชำนาญ ณ.อันดามัน ซะอย่าง!.. ผ่านมาร้อยเอ็ด เจ็ดย่านน้ำ มีรึจะยอมตายน้ำตื้น!!!!.
          “เอายังงี้!. ซื้อก็ได้ ถ้าทาแล้วมันใหญ่และยาวขึ้นมาจริงๆ จะกลับมาใช้กับเธอ ตกลงมั๊ย?”
พอผมพูดจบ หน้าของเธอแดงเหมือนมะขือซ๊อส ที่ใช้ใส่ส้มตำเลยครับพี่น้อง อิอิ..
          “ม่ายล่ายลอกค่า นู๋มีสามีแล้ว” เธอส่ายหน้าปฏิเสธ พร้อมกับหลบตาผม
          “ถ้าไม่ตกลงก็ไม่ซื้อ ขอบใจนะ ไปหล่ะ” แล้วผมก็รีบจ้ำข้ามถนน ปล่อยให้เธอยืนตัดสินใจอยู่ตรงนั้น ว่าจะตกลงตามข้อเสนอของผมดีหรือไม่!?..ฮา ฮา ฮา...
สินค้าหลากหลาย ภายใน "กาดทุ่งเกวียน"

          เมื่อผมเข้าไปภายในตัวตลาด มองหาสหายของผมทั้งสองไม่เห็นซะแล้ว จึงได้เดินเกร่ชมสิ้นค้าต่างๆ ที่มีอยู่มากมาย ทั้งที่วางแบอยู่บนพื้นและวางอยู่บนแผง มีแม่ค้าหน้าตาจิ้มลิ้มคอยชักชวนให้ซื้อสิ้นค้าของเธอด้วยภาษาไทยสำเนียงของคนพื้นที่สูง




คนขายบอกว่า เคยมีเหล้าชื่อ "แมวใจดี" แต่เลิกผลิดไปแล้ว



แฉล้ม แช่มช้อย แต่ "พูกไทยไม่ชัก"

          ผมถือโอกาสเก็บภาพของแม่ค้า สวยบ้าง ไม่สวยบ้าง ยิ้มบ้าง ไม่ยิ้มบ้าง มาได้หลายคน กระทั่งพบกับสองสหายและกลับมาขึ้นรถ(แม่ค้าทั้งยาวทั้งใหญ่คนนั้นยังยืนยิ้มอยู่ข้างรถ) เราออกจากที่นั่นมุ่งหน้าเข้าสู่จังหวัดเชียงใหม่ต่อไป....
          เราไม่ได้เข้าตัวเมืองเชียงใหม่ แต่ตรงไปอำเภอแม่แตง เพื่อขึ้นดอยไปให้ถึงอำเภอปายก่อนค่ำ.
          เมื่อเข้าสู่ถนนสายแม่แตง-ปาย ผมรู้สึกตื่นเต้นพอสมควร สารภาพกันตรงๆว่าผมเพิ่งจะขับรถบนถนนสายนี้เป็นครั้งแรกในชีวิต จากที่เคยได้ยิน ได้ฟังมาว่าเป็นถนนสาย “ปราบเซียน” จึงต้องใช้ความระมัด ระวังมากเป็นพิเศษ และกลัวจะเจอป้ายที่บอกว่า “ระวังทางตรง” แต่ก็ยังโชคดีที่ไม่เจอสักป้ายเดียว เอิ๊กๆๆๆ...
          ขึ้นเขามาสักพัก ข้างทาง มีป้ายติดอยู่ เขียนตัวโตๆว่า “จุดจอดอ๊วก” เสียดายที่ผมไม่ได้
จอดอ๊วก จึงไม่ได้ถ่ายรูปมาเป็นที่ระลึก!!!..
          กระทั่ง หลังเที่ยง เราเจอร้านอาหารอิสลามบนยอดดอย ซึ่งมีข้าวซอยที่มีชื่อเสียงของภาคเหนือไว้บริการนักท่องเที่ยว และที่สำคัญ มีต้มซุปหางวัวแบบอิสลามด้วย ผมไม่เคยนึกมาก่อนว่าจะได้กินซุปหางวัวบนยอดดอย บนเส้นทางไปเมืองสามหมอก

ข้าวซอยไก่

          ค่อยรู้สึกเป็นคนขึ้นมาหน่อย เมื่อได้มีอาหารหนักๆตกถึงท้องบ้าง เราออกจากที่นั่น เป้าหมาย “ห้วยน้ำดัง” เป็นจุดหมายต่อไป
          ไม่ถึง 100 โค้ง ประมาณหลักกิโลเมตรที่ 55-56 เราก็ถึง “อุทยานแห่งชาติห้วยน้ำดัง” เลี้ยวขวาเข้าไปไม่เกิน 10 นาที ก็ถึง “ดินแดนแห่งมนต์หมอก” ซึ่งขณะนั้นมีนักท่องเที่ยวกำลังชมทิวทัศน์ธรรมชาติกันหนาตาพอสมควร.









          ซึมซับกับทิวทัศน์อันงดงามของยอดดอย ปุยเมฆ ม่านหมอกและหน้าผาสูงตระหง่าน เก็บภาพความงดงาม แปลกตา จากมุมมองต่างๆ จนพอใจ จึงลาจาก “ห้วยน้ำดัง” มุ่งหน้าขึ้นดอยต่อไปยัง
“ปาย” อันเลื่องลือ เป็นจุดหมายสำคัญของวันนี้.

วันพุธที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2554

แอ่วเหนือ เมื่อต้นหนาว ปี 54

                ชำนาญ ณ.อันดามัน หนีทะเล หลบน้ำท่วมภาคกลาง  ขึ้นเหนือไปหาลมต้นหนาว  ไต่ยอดดอยพิชิต 1,864 โค้ง สู่เมืองสามหมอก ชมสาวกะเหรี่ยงคอยาว ซบสาวกะเหรี่ยงคอสั้น สัมผัสกะเหรี่ยงแดงและกะเหรี่ยงขาว แอ่วสาวไทใหญ่ ตะลุยทุ่ง(ดอย)บัวตอง อันละลานตระการตา ลดเลี้ยวเคี้ยวคดเลียบหน้าผามุ่งหน้าหาสหายจากสายใยในเฟสบุ๊ค!..
                วันแรก..11 พ.ย. 54 บ่ายแก่ๆ ค่อนไปทางเย็น สามสหาย หมายถึง ชำนาญ ณ.อันดามัน กับเพื่อนคู่หูอีก 2 คน ใช้รถกะบะ 4 ประตูเป็นพาหนะ ออกจากเกาะภูเก็ต จุดหมายปลายทาง ณ.เมืองเหนือ โดย ชำนาญ ณ.อันดามัน รับหน้าที่เป็นสารถี
                กระทั่ง 5 ทุ่มของคืนวันนั้น แวะพักค้างแรมที่ชายหาดแม่รำพึง อำเภอปราณบุรี ประจวบคีรีขันธ์ เพื่อถนอมเรี่ยวแรง(ของหนุ่มเหลือน้อย)เอาไว้ใช้อีกหลายวัน

ที่พักคืนแรกของทริป

                เช้าวันที่สอง..ท้องฟ้าเหนืออ่าวแม่รำพึง สลัวมัวหม่น เม็ดฝนโปรยปรายลงมาบางๆ พวกเราเช็คเอ๊าท์ออกจากที่พัก โดยผมเป็นสารถีเหมือนเดิม แวะที่ตลาดปราณบุรี รองท้องด้วย โจ๊ก กาแฟ ปาท่องโก๋ ที่ร้านกาแฟริมถนน ก่อนมุ่งหน้าขึ้นสู่ถนนเพชรเกษม ขยับโขยก โยกเยกโคลงเคลง  มาตามสภาพผิวถนนสายใต้ กระทั่งเข้าเขตนครปฐม เลี้ยวซ้ายเข้าสู่ถนนมาลัยแมน ผ่านอำเภออู่ทอง อำเภอด่านช้าง สุพรรณบุรี
                ประมาณ บ่าย 2 โมง กระทั่งกระเพาะร้อง ลำไส้แสบ กันทั้ง 3 คน จึงได้แวะกินข้าวเช้าที่ร้านชาวบ้าน แบบลูกทุ่ง ริมถนนสาย ด่านช้าง-ลาดยาว

ที่กินข้าวมื้อแรกของวันที่สอง

                ไม่เกินครึ่งชั่วโมง เราจึงออกจากที่นั่น โดยสหายอีกคนรับหน้าที่โชเฟอร์ เนื่องจากผมมีนิสัยเสียอย่างหนึ่ง คือหลังจากกินข้าวอิ่ม ผมจะขับรถไม่ได้ เพราะจะหลับในท่าเดียว แต่ถ้าหากได้พักสัก 10 หรือ 15 นาที ก็จะขับได้อีกเป็น 10 ชั่วโมง เรื่องนี้ เป็นที่รู้กันทุกคน
เราใช้เส้นทางลัด หนีน้ำท่วม ลัดเลาะหลงบ้าง ถูกบ้างไปตามหมู่บ้านและอำเภอต่างๆ จนหลุดขึ้นถนนสายเอเชีย(จนได้) ผ่านกำแพงเพชร กระทั่งมาหยุดพักคน พักรถ เติมน้ำมันที่ปั๊มแห่งหนึ่งในเขตจังหวัดตาก เมื่อตอนย่ำค่ำ
ผมรับหน้าที่สารถีอีกครั้ง เมื่อเสร็จภารกิจที่ปั๊มน้ำมันแห่งนั้น จุดหมายต่อไปคืออำเภอเถิน ลำปาง ซึ่งผมมีหลานชายและอดีตน้องสะใภ้ เปิดร้านคาราโอเกะอยู่ที่นั่น
สามทุ่มเศษ ผมก็ได้พบกับหลานชายและอดีตน้องสะใภ้สมความตั้งใจ หลังจากที่ไม่ได้เจอกันร่วมสิบปี

ร้านอาหารของน้องสะใภ้และหลานชาย

ทักทาย ถามสารทุกข์ สุกดิบ นั่งพูดคุยกัน โดยน้องสะใภ้จัดเครื่องประกอบการสนทนามาบริการไม่ขาดตกบกพร่อง กระทั่งเวลาผ่านไปพอสมควรแก่การคิดถึง เราจึงกล่าวคำอำลากันด้วยความอาวรณ์และหวังว่าจะได้พบกันอีก
เราออกจากที่นั่นมาเกือบเที่ยงคืน และมีความเห็นตรงกันว่าน่าจะหาร้านข้าวต้มแถวนั้น รองท้องกันก่อนเดินทางต่อไป น่าจะดี.. ทุกคนเห็นดี!...
ผมขับรถ ยูเทิร์น วนเวียนอยู่แถวทางแยกเข้าตลาดอำเถอเถิน 2-3 รอบ ไม่เห็นร้านข้าวต้มอย่างที่ต้องการ มีแค่ร้านที่มีป้ายเขียนไว้หน้าร้านว่า “อาหารและเครื่องดื่ม” เพียงร้านเดียว มีสาวๆ นุ่งสั้นๆ ดินเกร่อยู่ภายในร้านหลายคน ผมตัดสินใจเลี้ยวรถพรืดเข้าไปจอด
พวกเราลงจากรถ เดินเข้าไป มีสาวนุ่งสั้น ผิวขาว ปากแดง เดินออกมาทักทายต้อนรับ เชิญเข้าไปนั่ง อีกคนเดินถือเมนูอาหารมา 3 เล่ม ครบคน.
เพื่อนผมถามเธอคนนั้นก่อน “ร้านปิดตีเท่าไหร่?”
“ตีสิกสองค่า” เธอตอบสำเนียงแบบที่ผมเขียนจริงๆ..
“เราจะกินข้าวต้ม ได้ไหม?” เพื่อนผม ถามต่อ
“ยังกิงล่ายค่าๆๆๆ... คัวม่ายปิก”
“ยังงั้น!. เอาผักบุ้งไฟแดงหนึ่ง,ไข่เยี่ยวม้าผัดกะเพราหนึ่ง,คะน้าปลาเค็มหนึ่ง,ข้าวต้มสอง,ข้าวเปล่าหนึ่ง” เพื่อนผมสั่งรวดเดียวจบ เพื่อประหยัดเวลา
เธอรับคำ ค่า..ๆ..ๆ.. แล้วเดินจากไป
ประมาณ 15 นาที ผ่านไป!...
มีเด็กผู้ชาย ยกข้าวต้มทรงเครื่อง 2 ชามเขื่องๆ ควันฉุย..พร้อมกับข้าวเปล่า 1 จาน มาวางให้บนโต๊ะ แล้วเดินจากไป..
เรา 3 คน มองอาหารบนโต๊ะ..แล้วมองหน้ากัน..แบบว่า.. งง..ๆ ๆ ๆ..
ส่วนผมปล่อยก๊ากกกกกกกกกก..แบบเต็มกลั้น...
“อะไรของมันว่ะ!?” เพื่อนผมอีกคนว่าแบบกังขา.
“ก็สั่ง ข้าวต้มสอง ข้าวเปล่าหนึ่ง ไม่ใช่เร่อะ?” ผมว่า
“ก็ใช่” หมอยืนยัน
“แล้วนั่น! ไม่ใช่ ข้าวต้มสอง ข้าวเปล่าหนึ่งรึ?” ผมย้อนถาม กลั้วหัวเราะกึกๆ
พวก หุบปากเงียบกริบ เหมือนถูกตีด้วยสาก...
เพื่อนคนที่สั่งครั้งแรก เรียกพนักงานอีกคนมา แล้วบอกว่าไม่ได้สั่งข้าวต้มแบบนี้ สั่งข้าวต้มเปล่าๆ
เธอคนนั้นพูดอธิบาย พอแปลความหมายได้ว่า ข้าวต้มแบบนั้นไม่มี มีแต่แบบที่เห็นนี้แหละ.
เพื่อนผมจึงบอกว่า ให้เอาคืนไป เราไม่ได้สั่งแบบนี้
เธอคนนั้น เดินหายเข้าไปในครัว โดยไม่พูดอะไรต่อและไม่ได้ยกข้าวต้มทั้ง 2 ชามนั้นไปด้วย
ไม่เกิน 3 นาที ต่อมา มีผู้หญิง รูปร่าง ล่ำล่ำ บึกบึก เหมือนกับนักยกน้ำหนักหญิงไทยที่ชอบพูดว่า “สู้โว้ย” เดินออกมาจากในครัว ย่างสามขุมเข้ามาหาพวกเรา..
 หยุดกึก!. มือท้าวสะเอว แล้วพูด “จากิง ม่ายกิง?”
ผมเสียววาบถึงก้นกบ..
ส่วนเพื่อนผม...”ผมสั่งข้าวต้มกุ๊ยครับ” เบาและสุภาพ อิอิ..
“ม่ายมี” แค่นั้น แล้วยกชามข้าวต้มทั้ง 2 ชาม เดินเหมือนรถแทร็กเตอร์หายไปในครัว
พวกเรา ลุกขึ้นพร้อมกันโดยไม่ได้นัด รีบเดินกลับไปขึ้นรถ
ผมสตาร์ทเครื่อง รีบออกรถ ล้อหมุนฟรีประมาณ 77 รอบ...นับแบบคร่าวๆ..
ขับวนมาที่จุดจอดรถทัวร์ ซึ่งกำลังจะปิด เพราะรถทัวร์คันสุดท้าย เพิ่งจะออกไป
บอกกับเจ้าของร้านว่า อย่าเพิ่งปิดเลย ขอพวกเรากินข้าวสักมื้อเถอะ...เพราะไม่มีที่กินแล้ว.
เจ้าของร้านก็ดีใจหาย บอกว่า ตามสบาย จะกินอะไรก็สั่งได้เลย ไม่ต้องรีบรีบร้อน
ได้ยินเท่านั้นแหละ...เบียร์จึงมาล้างคอคนละขวด ฉลองความโชคดี ที่รอดจากโดนยำมาได้ อย่าง ระทึก ระทึก.
อิ่มหนำ สำราญ เมื่อหลังจากตีหนึ่ง จึงสรุปได้ว่า คืนนี้ ควรจะหาที่นอนแถวๆนี้ แล้วค่อยไปต่อวันรุ่งขึ้น.
เรามาได้บ้านน๊อคดาวน์ ในปั๊มน้ำมันร้างแห่งหนึ่ง ริมถนนห่างออกมาจากร้านข้าวต้มนั่นมากพอสมควร เป็นที่พักยก เพื่อรอยกต่อไป.

ที่พักยก คืนที่สอง

วันเสาร์ที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2554

ชีพจรลงเท้าเฒ่าอันดามัน ตอน ด่านช่องแม็ก (บ่าย 18 ก.ค.54)


น้ำยืน-ช่องแม็ก-แม่น้ำสองสี-ผาแต้ม – บ่ายของวันที่ 18 ก.ค.54
          เรากลับจากภูมิซอล เข้ามาถึงที่พักในหมู่บ้านก่อนเที่ยง ยังมีเวลาอีกมากมายกว่าจะหมดวันและไม่มีกิจกรรมใดๆให้ทำ จึงปรึกษาหารือกันว่าจะไปไหนกันดี กับเวลาที่เหลือ
          พวกเรา งัดแผนที่ออกมาดู หาแหล่งท่องเที่ยวใกล้เคียง หาเส้นทางและระยะทาง พร้อมทั้งขอข้อมูลจากเจ้าของบ้าน ซึ่งก็ไม่ได้อะไรมากนัก เพราะเขาก็ไม่ค่อยได้ออกไปไหน เรื่องโลกภายนอก เขาน่าจะรู้น้อยกว่าพวกเรา ซึ่งก็เป็นเรื่องธรรมดา ตามประสาชาวไร่ ชาวนา ไม่เหมือนนักเดินทางอย่างพวกเรา
          ไม่นานต่อมา พอสรุปได้ว่า เราน่าจะไปด่านช่องแม็ก ซึ่งอยู่ในเขตอำเภอสิรินธรเป็นอันดับแรก ต่อจากนั้นเลาะชายแดนไปแม่น้ำสองสีและผาแต้ม เป็นลำดับ ซึ่งอยู่ในเขตอำเภอโขงเจียม เลยตัวจังหวัดอุบลราชธานีไปทางทิศเหนือ พอขับรถเมื่อย รวมระยะทางแล้วน่าจะประมาณ 200 กิโลเมตร ขาด-เหลือไม่เกินหลักสิบ ตามหลักการแผนที่ทางหลวงของไทย ฮา ฮา ฮา ...
          เมื่อสรุปกันได้ลงตัว เจ้าของบ้านจึงแนะนำให้เราไปด้วยทางลัด โดยไม่ต้องย้อนกลับไปอำเภอน้ำยืน แต่จะไปทะลุออกอำเภอนาจะหลวย ซึ่งจะย่นระยะทางมากกว่า
          หลังจากสอบถาม ศึกษาเส้นทางกันพอเข้าใจ พวกเราจึงได้ออกจากบ้านมาประมาณเที่ยงวัน โดยมุ่งหน้าไปตามถนนลูกรังดินแดงในระยะแรกๆ ซึ่งเป็นถนนระหว่างหมู่บ้าน  กระทั่งกลายเป็นถนนลาดยาง แคบๆ ผ่านทุ่งนาโล่งๆ ผ่านหมู่บ้านเล็ก ใหญ่ หลายหมู่บ้าน
หลงบ้าง หลุดบ้าง กระทั่งมาเจอถนนสายหลักก่อนถึงอำเภอนาจะหลวยไม่ไกล ต่อจากนั้น จับเส้นทางบุณฑริก-ช่องแม็ก-เขื่อนสิรินธร ตามป้ายของทางหลวงจังหวัด
          เรามากันตามถนนสายนั้นไม่เกิน 20 นาที แต่ยังไม่ถึงอำเภอบุณฑริก ทุกคนในรถมองเห็นป้ายทางหลวงด้านซ้ายมือ บอกเส้นทางไปช่องแม็กและเขื่อนสิรินธร เจ้าน้องชายคนขับ จอดรถเข้าข้างทางเมื่อเลยป้ายมาประมาณ 500 เมตร แล้วหันมาถามขอความเห็นว่าจะไปตามถนนสายนี้ต่อไปหรือจะไปตามป้ายบอกนั้น
          จากความเห็นของเสียงส่วนใหญ่ (โดยผมนั่งเงียบๆ) บอกว่าควรจะไปตามป้ายทางหลวงนั่น น่าจะถูกต้องกว่า   เจ้าน้องชายจึงกลับรถย้อนกลับไปเลี้ยวเข้าถนนเส้นนั้นตามป้ายบอก ซึ่งเป็นถนนลาดยางแคบๆสองข้างถนนมีหญ้างอกออกมารกรุงรัง ผิวถนนเต็มไปด้วยลูกคลื่น หลุมบ่อ ขรุขระ ต้องคอยขับรถหลบหลีกเป็นระยะๆ
เมื่อเราเข้ามาตามถนนสายนั้นประมาณ 5 กิโลเมตรโดยไม่เห็นมีรถอะไรสวนมาแม้แต่คันเดียว ทุกคนรู้สึกได้ทันทีโดยไม่ตองมีใครบอกใครว่า มันเป็นถนนร้าง หรือถนนที่เลิกใช้กันมานานแล้ว
          เจ้าน้องชายหันมาขอความเห็นจากทุกคนอีกครั้งว่าจะย้อนกลับทางเดิมหรือจะไปต่อ มีบางคนบอกเสียงเบาๆ อย่างไม่มั่นใจว่า ไปต่อไป ไม่ต้องย้อนกลับ อยากรู้เหมือนกันว่า จะไปเจออะไร?..
เท่านั้นแหละ จากผิวถนนขรุขระ ที่เป็นหลุม เป็นบ่อ  กลายเป็นถนนเรียบขึ้นมาโดยอัตโนมัติ เมื่อเจ้าน้องชายมันขับแบบภาษานักเลงขับรถพูดกันว่า “ขับรูดไปเลย” ฮา ฮา ฮา..สะใจ ป้ายทางหลวง.
          ในที่สุด พวกเราก็หลุดมาถึง อบต.ช่องแม็กและถึงด่านช่องแม็กจนได้ หลังจากผ่าน วิบากกรรมมาบนถนนร้างสายนั้น อย่างระทึกในอารมณ์..




          ช่องเม็ก เป็นจุดผ่านแดนไทย-ลาว ตั้งอยู่ในเขตอำเภอสิรินธร ห่างจากตัวจังหวัดอุบลราชธานีประมาณ 90 กิโลเมตร บนทางหลวงหมายเลข 217 ช่องแม๊ก เป็นพื้นที่ชายแดนติดต่อระหว่างไทยกับลาว ซึ่งเป็นจุดผ่านแดนจุดเดียวในภาคอีสาน ที่สามารถเดินทางไป ประเทศลาว ทางพื้นดินโดยต้องข้ามแม่น้ำโขง
บริเวณช่องแม็ก มีด่านตรวจคนเข้าเมืองใหญ่โตมโหฬาร ยังมีที่กำลังก่อสร้างเพิ่มเติม ขยายออกไปอีก มีร้านขายสินค้าหลากหลายมากมาย ตั้งแต่ ของกิน ของใช้ เสื้อผ้า เครื่องประดับ ผักหญ้า กุ้ง ปู ปลา หอยแครง ปลาหมึก จากทะเล สดๆ เท่าที่ผมสอบถามราคา จะถูกกว่าที่ภูเก็ตหลายบาทเหมือนกัน




ผมเห็นรถบรรทุกน้ำมันขนาดใหญ่ จอดรอข้ามด่านไปฝั่งลาว หลายสิบคัน ส่วนรถยนต์นั่ง รถกระบะ ที่มีทั้งป้ายทะเบียนไทยและทะเบียนลาว วิ่งเข้า-ออก ตลอดเวลา ส่วนคน ก็มีทั้ง ชาวบ้านธรรมดาทั่วไป นักท่องเที่ยว ตำรวจ ทหาร ข้าราชการ พระ ชี เดินเข้า-ออก ผ่านทางช่องตรวจคนเข้าเมือง ไม่ขาดระยะ









ช่องเม็กนั้น นับเป็นด่านชายแดน ที่เป็นเสมือนประตูสู่ประเทศลาว ที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะเป็นเส้นทางสู่เมืองปากเซ ซึ่งตั้งอยู่ริมแม่น้ำโขง ที่ยังคงสภาพชีวิตความเป็นอยู่ของชาวลาว ที่เต็มไปด้วยสีสัน และยังสามารถเดินทางต่อไปยังน้ำตกหลี่ผี และน้ำตกคอนพะเพ็ง ที่มีชื่อเสียงได้ด้วย
          การเดินทางข้ามไปยังปากเซนั้น นักท่องเที่ยวชาวไทย สามารถนำหลักฐานไปยื่นคำร้องขอทำบัตรผ่านแดนชั่วคราว ได้ที่ ที่ทำการปกครองจังหวัดอุบลราชธานี (ฝ่ายความมั่นคง) ศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี ทุกวัน ในเวลาราชการ หรืออาจยื่นคำขอได้ที่ ที่ว่าการอำเภอสิรินธร ทุกวัน ไม่เว้นวันหยุดราชการ หรือที่ จุดผ่านแดนชั่วคราวช่องเม็ก เมื่อยื่นเรื่องแล้ว สามารถรอรับหนังสือผ่านแดนชั่วคราวได้เลย หากนักท่องเที่ยวมีพาสปอร์ตแล้ว ก็ไม่ต้องทำหนังสือผ่านแดนชั่วคราว





          บัตรผ่านแดนชั่วคราว มีกำหนดเวลาท่องเที่ยวในลาวได้ 3 วัน 2 คืน หากจะนำรถเข้าไปทางฝั่งลาว ต้องนำรถไปทำพาสปอร์ตรถที่สำนักงานขนส่งจังหวัด ผู้ขับขี่จะต้องนำสำเนาใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ และสำเนาใบเสียภาษีรถยนต์ ไปยื่นเรื่องขออนุญาตด้วย
          ด่านชายแดนช่องเม็ก เปิดทำการเวลา 08.00 - 18.00 น. แต่พวกเรามีเวลาจำกัด จึงมีความเห็นตรงกันว่า เอาไว้โอกาสหน้า ถ้าหากได้มาอีก
          หลังจากได้ถ่ายรูปเป็นที่ระลึกกันคนละหลายๆรูป พวกเราก็อำลาด่านช่องแม็ก มุ่งหน้าต่อไปยังแม่น้ำสองสี อำเภอโขงเจียม ภายใต้ท้องฟ้าอึมครึมด้วยเมฆฝน

*** โปรดรอติดตามตอนต่อไป***