วันอาทิตย์ที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2554

เนื่องมาจากคำว่า”แคว๊กขี้ยางพรก”


เรื่องนี้ สืบเนื่องมาจาก เพื่อนบน Facebook คนหนึ่ง ได้เข้าไปอ่าน เรื่อง “เฮีย..เอาไข่สองขีด” ที่เวป “ชำนาญ เขียน” แล้วเธอสงสัยความหมายของคำว่า “แคว๊กขี้ยางพรก” ผมพยายาม เขียนอธิบาย คำว่า “แคว๊ก” “ขี้ยาง”และ “พรก” ให้เธอเข้าใจ

แต่เธอก็ยังบอกว่า มึนตึ๊บ!?..นึกภาพไม่ออก เพราะเธอไม่ใช่คนปักษ์ใต้ ผมจึงจำเป็นต้องดั้นด้นบุกเข้าไปในสวนยางพาราหลายสวน โดยใช้เวลา 2 วัน ทำการถ่ายรูปและคลิปวีดีโอ เพื่อเอามาประกอบคำรับสารภาพ เฮ้ย..เฮ้ย..ประกอบคำว่า “แคว๊กขี้ยางพรก” ซึ่งเป็นคำเปรียบเทียบกับการกระทำบางอย่างของคนบางคน (ในที่นี้ผมจะไม่ขออธิบายความหมาย) ที่นิยมใช้กันมากทางปักษ์ใต้ เพื่อให้เธอได้เข้าใจ อย่างทะลุปรุโปร่ง แจ่มแจ้งแดงแจ๋(หวางเผิน) และหายมึนตึ๊บ!..

อีกทั้งจะได้แบ่งปันให้คนอื่นๆที่ไม่เข้าใจ จะได้เข้าใจคำว่า "แคว๊ก" ขี้ยาง" "พรก" ด้วยประการฉะนี้..

ตามมาดู พร้อมกับการโม้เพิ่มเติม ตามถนัดของ ชำนาญ ณ.อันดามัน กัน!..

หมายเหตุ...เรื่องนี้ ไม่ใช่สารคดี อีกทั้งไม่ใช่วิชาการ ไม่สามารถนำไปใช้อ้างอิงได้

--------------------------

รวบรัดตัดตอน มาเริ่มกันที่ ชาวสวนเก็บน้ำยางพารา มาจากต้นยางพารา แล้วนำใส่ลงในถาดอะลูมิเนียม (แบบเดียวกับที่ใช้ใส่กับข้าวตามร้านข้าวราดแกง) ต่อจากนั้นก็ผสมน้ำเพิ่มเติมลงไปในน้ำยางตามสัดส่วนที่เหมาะสม ใส่น้ำกรดฆ่ายางลงไปในน้ำยาง เพื่อให้น้ำยางแข็งตัวเร็วขึ้น

เมื่อน้ำยางแข็งตัวแล้ว นำออกมาจากถาด แล้วทำให้บางออกเป็นแผ่นยาง

ขั้นตอนต่อไป เอาเข้าเครื่องรีดยาง(แบบไม่มีดอก) รีดให้บางที่สุดเท่าที่จะบางได้

ต่อจากนั้น เอาเข้าเครื่องรีดแบบมีดอก เพื่อรีดเอาน้ำที่อยู่ในแผ่นยางออกให้มากที่สุด

แล้วก็จะได้ยางแผ่นแบบนี้


แผ่นยางพารา หลังจากผ่านการรีดจาก ทั้ง 2 เครื่องรีดแล้ว

เก็บพักไว้ก่อน รอการนำออกไปตากแดดให้แห้ง

แผ่นยางที่ผ่านการรีด นำออกมาตากแดด

เมื่อแห้งแล้ว จึงนำมาเก็บ ในโรงเก็บ สีเหลืองแบบนี้ เป็นน้ำยางที่ได้จากต้นยางอายุยังไม่มาก

แผ่นยาง ที่ได้น้ำยางจากต้นยางแก่

แผ่นยางจากน้ำยาง ที่ได้มาจากต้นยางแก่ เมื่อแห้งแล้ว สีจะเป็นแบบนี้
นำเข้าเก็บในโรงเก็บและรอเปลี่ยนเป็นเงิน ในขั้นตอนต่อไป (ณ.เวลานี้ ก.ก.ล่ะ 170 บาทเป็นอย่างต่ำ)
------------------------------------------

วีดีโอ ขั้นตอนการทำยางพาราแผ่น


-----------------------------------------


ทีนี้ก็มาถึงคำว่า "แค๊วกขี้ยางพรก"


นี่คือ "พรก" ที่ได้มาจาก "กะลามะพร้าว" ผ่าซีก

ชาวสวนยาง จะนำ "พรก" มารองน้ำยางพารา ที่ไหลออกมาจากต้นยางพารา หลังการกรีด
ต่อจากนั้น ชาวสวนก็จะรอเวลาที่เหมาะสม อาจจะเป็น 3 ชั่วโมง 4 ชั่วโมง หรือจนกว่าจะหายขี้เกียจ!..
ก็จะเก็บน้ำยางนำไปเข้ากระบวนการทำแผ่นยาง

หลังจากที่ชาวสวนเก็บน้ำยางส่วนใหญ่ไปแล้ว ก็จะวาง "พรก" ไว้รับน้ำยางส่วนน้อยที่ยังไหลออกมา
เรื่อยๆ ช้าๆ จนกว่าจะหยุดไหล ในวันนั้นหรือวันรุ่งขึ้น

หลังจากน้ำยางหยุดไหลและเวลาผ่านไปหลายชั่วโมง อาจจะเป็นวันหรือวันครึ่งหรือสองวัน
(ซึ่งขึ้นอยู่กับ พันธุ์ของต้นยาง อายุของต้นยาง อากาศและสิ่งแวดล้อมอื่นๆ เป็นส่วนประกอบ)
เมื่อน้ำยางส่วนนั้นจับตัวเป็นก้อนแข็งและเหนียวติดอยู่ใน "พรก"
เรียกว่า "ขี้ยาง" หรือ "เศษยาง" ที่อยู่ใน "พรก" หรือ "กะลามะพร้าว" นั้น
ทีนี้เมื่อมีใครก็ตามที่ไป "แคว๊ก" หรือ "ควัก" เอา "ขี้ยาง" หรือ "เศษยาง" ใน "พรก" หรือ ใน "กะลา" นั้นออกมา เราจึงพูดว่า "แคว๊กขี้ยางพรก"

เพราะฉะนั้น..ตามพจนานุกรม ภาษาใต้วันละคำ... "แคว๊กขี้ยางพรก"

จึงแปลความหมายได้ว่า... "ควักเศษยางออกมาจากกะลามะพร้าว" ด้วยประการฉะนี้



หลังจาก "แคว๊กขี้ยางพรก" ได้จำนวนพอประมาณ ก็นำมารวมเป็น "ขี้ยางก้อน"

และเมื่อรวม "ขี้ยางก้อน" ได้มากเข้า ประมาณ 1 ตันหรือ 2 ตัน
ก็นำขึ้นไปรวมไว้ท้ายรถกระบะ แล้วขับไปที่ร้านรับซื้อ "ขี้ยาง"
ที่ร้านรับซื้อ "ขี้ยาง" ซื้อราคากิโลกรัมล่ะ 75 บาท (ณ.วันที่เขียนเรื่องนี้)
เมื่อเอา 2,000x75
กลายเป็น...ไม่ใช่เรื่อง ขี้ ขี้ เลย.....
------------------------------------
วีดีโอ "แคว๊กขี้ยางพรก"


--------------------------------------------

จบเรื่อง "แคว๊กขี้ยางพรก" อาจจะมีสาระบ้าง จากเรื่องไร้สาระนี้
และขอยกเครดิตให้กับเพื่อนบน Facebook ที่มีคำถาม ทำให้ผมเกิดแรงบันดาลใจ เล่าเรื่องนี้
ขอขอบคุณทุกท่าน ที่ตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ หรือ..หลงเข้ามาอ่าน!!..

พบกันใหม่เรื่องต่อไปครับ...

ด้วยความจริงใจ ของ ชำนาญ ณ.อันดามัน
---------------------------------------------

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

อ่านเรื่องราวกันก่อนแล้วค่อยต้ดสินใจและแบ่งปัน