วันศุกร์ที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2554

ลุย ล่า กลางพายุ(ตอนจบ)


จากความในตอนแรก...หลังจากหนีพายุมาทิ้งสมอหลบคลื่น ที่ข้างเกาะแปด(สิมิลัน) ตอนย่ำรุ่ง มีเรือประมงปั่นไฟลำหนึ่ง สมอกาวลอยมาเกือบชนเรือของเรา จนช่างดำต้องเอาขวดเครื่องดื่มชูกำลังเขวี้ยงเข้าใส่ คนเฝ้าเรือจึงตื่นและนำเรือห่างออกไปจากการชนกันกลางพายุ

เช้าวันที่ 28 มีนาคม 54 ความจริง วันนี้ เป็นวันครบทริป 3 วัน 2 คืน ตามโปรแกรมทัวร์ ซึ่งเราจะต้องกลับไปให้ถึงท่าเรือทับละมุ ในตอนเย็น

แต่สภาพอากาศขณะนี้ ฝนยังโหมกระหน่ำลงมาอย่างหนัก ลมพัดผ่านห้องถือท้ายดังหวีดหวิว คลื่นม้วนตัวเข้าปะทะลำเรือสั่นสะท้าน เหมือนจะแยกเรือออกเป็นชิ้นๆ ทัศน์วิสัยเลวร้ายสุดบรรยาย ถ้าจะแล่นฝ่ากลับไปตอนนี้ ไม่บ้าก็เมาละว่ะ!.

ผมมองออกไปด้านนอก เห็นเต็มไปด้วยเรือนานาชนิด ทั้งเรืออวนลาก อวนดำ เรือปั่นไฟล่อปลา เรือยอช์ท เรือทัวร์ดำน้ำ(Diving) ทั้งลำเล็ก ลำใหญ่ ต่างทิ้งสมอสู้กับคลื่นลม แน่นขนัด ตั้งแต่ชายฝั่งริมเกาะ ห่างออกมาประมาณ 3 กิโลเมตร และเรือ ช.ชารีฎา อยู่ในแนวตำแหน่งเกือบนอกสุด


หลบคลื่น ลม หลังเกาะ
สภาพบนเรือ ช.ชารีฎา จากการมองสำรวจอย่างคร่าวๆของผม ข้าวของน้ำหนักเบาบนโต๊ะดาดฟ้า หน้าห้องถือท้าย ปลิวหายไปหมดตั้งแต่ตอนกลางคืน ตะกร้าใส่ถ้วยกาแฟตกลงมาบนพื้นดาดฟ้า ถ้วยกาแฟแตกกระจัดกระจาย เต็มพื้น ถังเก็บปลาซึ่งมีน้ำแข็งและปลาที่ตกมาได้อยู่เต็มถัง น้ำหนักเกือบ 100 กิโลกรัม จากตำแหน่งที่ตั้งกลางลำเรือ เลื่อนไถลมาทางหน้าห้องถือท้ายติดอยู่ทางกราบขวา ห่างออกมาจากตำแหน่งเดิมเกือบ 3 เมตร

ในห้องครัวท้ายเรือ หม้อข้าว หม้อแกง ฝาหม้อ กระทะ ตะหลิว ทัพพี อยู่กันคนละทิศ คนละทาง กับข้าวที่เหลือจากมื้อค่ำ หกเรี่ยราด เต็มห้องครัว ถ้วย ชาม จาน ช้อน ในกะละมังที่ยังไม่ได้ล้างตั้งแต่หัวค่ำ กระจัดกระจายเต็มพื้นท้ายเรือ บางส่วนปลิวหายลงทะเล

นักล่าทั้ง 6 คน ยังนอนเงียบอยู่บนห้องนอนชั้น2 และหน้าห้องเครื่องท้ายเรือ เด็กหนุ่ม 2 คน ในจำนวน 3 คน คำรามใส่ทะเล คนละครั้ง สองครั้งแล้ว

“เอายังไงดี ถ้ายังขืนอยู่ตรงนี้ อดข้าวแน่ เพราะทำอะไรไม่ได้เลย” ช่างดำพูดกับไต๋เอก เชิงปรึกษา
“คิดอยู่ว่า จะย้ายลงไปที่หลังเกาะสี่ รอให้ลม ฝนเบาบางอีกหน่อย” ไต๋เอก บอกกับช่างดำ ในขณะที่มองสำรวจออกไปด้านนอก อย่างชั่งใจ


เรือทัวร์ดำน้ำ(Diving)
ในขณะนั้น เรือทัวร์ดำน้ำ(Diving) 2 ลำ ถอนสมอ แล่นฟันคลื่น ฝ่าสายฝนตามหลังกัน มุ่งหน้าลงไปทางใต้แล้ว

08.30 น. ไต๋เอกตัดสินใจ บอกให้ช่างดำ ถอนสมอ เพื่อแล่นลงไปยังเกาะสี่(เกาะเมี่ยง) ซึ่งอยู่ทางทิศใต้ลงไปประมาณ 2 ชั่วโมง ด้วยความหวังว่า ที่นั่นคงจะหลบคลื่นลมได้ดีกว่าที่นี่

แต่เมื่อแล่นออกมาจริงๆ ต้องใช้เวลาเกือบ 3 ชั่วโมง จึงมาถึงด้านทิศตะวันตกของเกาะสี่ อันเป็นบริเวณที่พอจะหลบคลื่นลมได้บ้าง


ด้านทิศตะวันตกของเกาะสี่(เกาะเมี่ยง)เย็นวันที่ 28 มี.ค.54
เมื่อเรามาถึงปรากฏว่ามีเรือทิ้งสมออยู่เป็นจำนวนมากเหมือนที่เกาะแปด รวมทั้งเรือทัวร์ดำน้ำ ที่แล่นออกมาก่อนหน้าเรา

ผมคิดว่ากัปตันพวกนั้นคงไม่บ้าพอที่จะเอาชีวิตของนักท่องเที่ยว ออกไปเสี่ยงกับสภาพอากาศที่เลวร้ายขนาดนั้น และเป็นสิ่งซึ่งพวกเขาตัดสินใจถูกต้องแล้ว ที่ไม่ดันทุรังแล่นออกไป

ไต๋เอก นำเรือแล่นวนเพื่อหาจุดที่เหมาะสมในการทิ้งสมอ เพราะมีเรืออยู่จำนวนมาก ถ้าทิ้งสมอใกล้กันเกินไป สมออาจจะกาวและลมตีไปกระแทกกับเรือลำอื่นได้ หรือลำอื่นอาจจะมากระแทกเรา ซึ่งไม่มีใครอยากให้เกิดเหตุการณ์แบบนั้นขึ้น


ด้านใต้ของเกาะสี่
ที่สุดก็ได้ทิ้งสมอเกือบสุดหัวเกาะทางด้านทิศใต้ เป็นด้านนอกสุด อยู่ทางด้านกราบขวาของเรือทัวร์ดำน้ำทั้ง 2 ลำนั้น

สถานการณ์บริเวณนั้น ให้โอกาสช่างดำได้หุงข้าว ทำกับข้าวและให้โอกาสนักล่าได้ตั้งตัวบ้าง ทุกคนยอมรับสภาพ เมื่อได้ยินไต๋เอกบอกว่า “วันนี้ยังกลับไม่ได้”

บางคนจึงโทรบอกให้คนทางบ้านรับรู้ถึงสถานการณ์ บางคนโทรไปลางานต่อ โดยใช้โทรศัพท์ที่ใช้ระบบจีเอสเอ็ม ซึ่งพอจะมีสัญญาณอยู่บ้าง แต่ก็ขาดๆหาย และก็มีอยู่เครื่องเดียว จึงต้องขอหยิบยืมกัน 

บางคนไม่ยอมโทรกลับบ้าน เพราะก่อนจะมาออกทะเล ดันโกหกเมียว่าไปเชียงใหม่ (ยืนยันว่าเขาบอกผมยังงั้นจริงๆ)

ให้มันได้ยังงี้ ซิ !..ถึงจะรียกว่าลูกผู้ชายชื่อไอ้แผน ยอมตายในทะเล ดีกว่าได้ยินเมียด่า ขั้นเทพจริงๆ นับถือ.. นับถือ ฮ้า..ฮ้า..ฮ้า..

เกือบบ่ายโมง ทุกคนจึงได้กินอาหารเช้า เมื่อหลังเที่ยง โดยการตักราดแบบข้าวราดแกง แล้วต่างคนต่างก็ไปหามุมที่คิดว่ามั่นคงที่สุด เพื่อจะตักข้าวจากจานเอาเข้าปากให้ได้ เหมือนการเล่นเกมส์กรอกน้ำใส่ขวดกับช้อนยังไงยังงั้น!.
และเกือบทุกคนยอมแพ้ทั้งที่ข้าวยังเหลือเกือบเต็มจาน เพราะช้อนมันทิ่มหน้าเอาบ้าง ทิ่มตาเอาบ้าง.

ฝนยังตกหนักอย่างต่อเนื่อง ลมพัดแรงตลอดเวลา ระดับคลื่นไม่สูงมากเพราะมีเกาะสี่บังเอาไว้ แต่เป็นคลื่นโยนตัวหนักๆ

บางครั้งก็มาจากสามทิศทาง ที่ชาวเรือเรียกกันว่า “คลื่นสามเส้า” คลื่นแบบนั้น ชาวเรือกลัวกันนักหนา เพราะมันทำให้เรือจมมานักต่อนักแล้ว

ไต๋เอกเปิดวิทยุเรือ ฟังการพูดคุยของเหล่ากัปตันเรือทัวร์ เกี่ยวกับสถานการณ์โดยทั่วไป
เรือทัวร์เหล่านั้น ส่งนักท่องเที่ยวหรือลูกทัวร์ส่วนใหญ่ขึ้นไปไว้บนเกาะแปด(สิมิลัน)ซึ่งเป็นที่ทำการอุทยานฯ มีที่พัก มีห้องน้า มีสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆพอสมควรและบางส่งขึ้นเกาะสี่(เมี่ยง) ที่เราหลบคลื่นลมอยู่ด้านหลัง

นักท่องเที่ยวที่ส่งขึ้นเกาะ เนื่องจากการเจ็บไข้ได้ป่วยและเมาคลื่นหรือความกลัวสภาพอากาศ แต่ก็มีจำนวนไม่น้อยที่ยังเต็มใจอยู่ในเรือ

วิทยุเสื่อสารประจำเรือ
เรือทัวร์ทุกลำจะฟังรายงานสภาพอากาศจากสำนักงานทัวร์ของตัวเองบนฝั่ง ซึ่งดูจากเว็บไซต์ต่างประเทศ แล้ววิทยุแจ้งมา
พวกนั้นไม่มีใครเชื่อการพยากรณ์อากาศของกรมอุตุฯไทยกันเลย

เหตุจาก พวกท่านจากกรมอุตุฯ ประกาศออกมาว่า “ลมในทะเลอันดามันมีกำลังอ่อน มีฝนเล็กน้อยเป็นบางจุด คลื่นสูงเล็กน้อยถึงปานกลาง”
แต่ความเป็นจริง คลื่น ลม ฝน ถล่มจนเกาะสิมิลัน จะจมทะเลอยู่รอมร่อ!. พยากรณ์ออกมาได้!..

กัปตันเรือบางคนบอกเพื่อนทางวิทยุว่า “เฮ้ย..กรมอุตุฯพยากรณ์ว่า ทะเลอันดามัน คลื่นสูงเล็กน้อย ถึงปางตายว่ะ!..”
เออ..น่าจะถูกของเขา..ผมเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง..

สรุปว่า ไม่มีใครเชื่อการพยากรณ์อากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาของประเทศไทยเลย

ข้าราชการในกรมอุตุฯ,กระทรวงและรัฐบาล จะรู้เรื่องนี้หรือเปล่าผมไม่แน่ใจ?..
ถ้ารู้ ก็ควรจะปรับปรุงและสังฆายนากันได้แล้ว หรือไม่ก็ยุบทิ้งไปซะเลย จะได้เอางบประมาณภาษีของประชาชน ส่วนนั้นไปทำอย่างอื่นที่มีประโยชน์กว่า

ตอนบ่ายไม่มีกิจกรรมใดๆ ทุกคน นอน นอนและนอน
ภาวนาให้คลื่นลมสงบโดยเร็วหรือไม่ก็เบาบางลงบ้าง


ลำนี้สร้างความหวาดเสียว ตอนหัวรุ่ง
ช่วงตอนเย็นๆ ยังมีเรือ เข้ามาทิ้งสมออีกหลายลำ รวมทั้งเรือทัวร์ดำน้ำลำใหญ่กว่าเรือเรา มาทิ้งสมอด้านหน้าเยื้องไปทางซ้ายของหัวเรือเรา มีลูกทัวร์ฝรั่งอยู่เต็มลำ ลำนี้แหละที่สร้างความหวาดเสียวให้เราในตอนหัวรุ่ง..

เวลาผ่านไปอย่างเหน็ดเหนื่อย อาหารค่ำกินกันตามยถากรรม ใครมีความสะดวกตอนไหนก็กินตอนนั้น ใครไม่สะดวกกินก็ไม่กิน ปล่อยทุกอย่างให้เป็นไปตามสภาวะความเหมาะสมของมัน

ประมาณ 2 ทุ่มกว่า พวกเรา 3 คน ตกลงกันว่า ต้องช่วยกันเข้าเวร ดูแลสถานการณ์ความปลอดภัย คนละ 2 ชั่วโมง
ไต๋เอกผลัดแรกให้เข้าเวรก่อนและนอนหัวค่ำ เพราะเหนื่อยมาทั้งวัน ตั้งแต่ 3 ทุ่ม ถึง 5 ทุ่ม, ช่างดำ 5 ทุ่มถึงตี 1,
ผมที่ไม่ทำอะไรเลย อยู่ตั้งแต่ ตี 1 ถึง ตี 3 ซึ่งเป็นเวลาที่น่านอนที่สุด แต่ผมก็รับด้วยความเต็มใจ มันเป็นหน้าที่ ที่ง่ายกว่าทำอย่างอื่น (เพราะผมทำอย่างอื่นไม่เป็น ฮ้า..) ถ้าหากว่ามีอะไรผิดปกติ ผมแค่เรียกปลุก ไต๋เอกหรือช่างดำ ลุกขึ้นมาแก้ปัญหาเท่านั้นเอง ง่ายนิดเดียว!...แล้วผมก็เข้านอน ให้เรือไกวเปล

กระทั่ง 15 นาทีก่อนตี 1 ผมลุกขึ้นมาบอกให้ช่างดำที่นั่งหลับนกอยู่หลังพังงาเรือ เข้านอน ผมรับหน้าที่ต่อ

ผมมองออกไปด้านนอกรอบๆเรือ สังเกตสถานการณ์ เรือทุกลำยังอยู่ในตำแหน่งปกติที่เคยอยู่ตั้งแต่หัวค่ำ ผมวางใจกลับมานั่งสูบบุหรี่ ฟังการพูดคุยทางวิทยุจากเรือลำอื่นๆ คนพวกนั้นคงจะเข้าเวรเหมือนกัน จึงยังมีเสียงคุยกันอยู่

การพูดคุย ส่วนใหญ่เป็นเรื่องสภาพอากาศ การวางแผนแล่นเรือกลับเข้าฝั่ง และที่ขาดไม่ได้คือ ด่าพ่อล่อแม่กรมอุตุฯ ที่พยากรณ์อากาศผิดพลาด
นอกจากนั้นก็เป็นการพูดแซว หยอกล้อกันระหว่างคนสนิท เรื่องเที่ยวคาราโอเกะ เรื่องจีบสาว เรื่องจีบแม่หม้าย และฯลฯ สารพัดเรื่อง ที่พวกเขาคุยกันเพื่อฆ่าเวลา

ประมาณตี 2 ครึ่ง ขณะที่ผมนั่งฟังพวกเขา คุยกันเพลินๆ
ได้ยินเสียง ใครคนหนึ่งในวิทยุพูดดังๆออกมาว่า “มาแล้วโว้ย..คราวนี้ของจริง ตัวใครตัวมันนะพรรคพวก...” ต่อจากนั้น ก็มีเสียงโครกคราก รบกวนจนจับใจความไม่ได้..

และ..ไม่กี่วินาทีต่อมา กระแสลมที่พัดอยู่แล้ว เพิ่มกำลังแรงขึ้น ฝนที่ตกอยู่แล้วกระหน่ำหนักขึ้น คลื่นที่โยนสูงอยู่แล้ว สูงขึ้นไปอีกและถี่ขึ้นจนผมนั่งไม่ติด ต้องลุกขึ้นไปยืนเกาะหน้าต่างห้องถือท้าย เพ่งมองฝ่าสายฝนออกไปด้านนอก..

แล้วผมก็ใจหายวาบ..เมื่อสังเกตเห็นเรือทัวร์ดำน้ำลำใหญ่ มันเลื่อนมาอยู่ในตำแหน่งเคียงข้างกับเรือเราทางด้านกราบซ้าย ห่างไม่เกิน 30 เมตรและขยับใกล้เข้ามาอย่างรวดเร็ว..

ผมรีบเรียกปลุกช่างดำ ให้ลุกขึ้น ช่างดำก็ลุกขึ้นทันใจเหมือนกัน เมื่อออกมาเห็นสถานการณ์ ช่างดำรีบกระโดดออกจากห้องถือท้าย ฝ่าฝน ฝ่าลมลงไปที่ดาดฟ้าทางกราบซ้ายของเรือ แล้วตะโกนโหวกเหวกไปที่เรือลำนั้น

มีคนสองคนโผล่หน้าออกมาทางท้ายเรือดาดฟ้าชั้นล่าง แล้วรีบผลุบกลับเข้าไป

อึดใจต่อมา ได้ยินเสียงเครื่องยนต์จากเรือลำนั้นกระหึ่มขึ้น แล้วเรือค่อยๆ ขยับเดินหน้าไปทีละนิด ทีละนิด เข้าใจว่าคงจะถอนสมอเพื่อไปหาตำแหน่งใหม่ ที่มั่นคงกว่า

ผมรู้สึกผ่อนคลายจากความตื่นเต้นลงเล็กน้อย

แต่แล้ว เมื่อเรือลำนั้นขยับเลยหัวเรือเราไปเพียงเล็กน้อย เรือเขาเกิดขวางลำขึ้นมาอย่างกะทันหันจากการกระโชกของลมและคลื่นและเจ้ากรรม..มันขวางเอากราบซ้ายเข้ามาหาหัวเรือเราซะด้วย สุดวิสัย ไม่มีใครทำอะไรได้ทัน..

เมื่อหัวเรือของเราเสยเข้ากับดาดฟ้าชั้นที่2 ของเรือลำนั้น
โครมแรก.. ฝรั่งนักท่องเที่ยวบนเรือวิ่งกันพล่าน ร้องลั่นด้วยความตกใจ

จังหวะที่คลื่นยกเรือเขาสูงขึ้น เรือเราตกลงในร่องคลื่น หัวเรือเราหลุดออกมาจากดาดฟ้าของเขาได้
แต่เมื่อเรือเขาตกลงในร่องคลื่นอีกครั้ง เรือเราถูกคลื่นลูกนั้นยกสูงขึ้น

โครมที่2 จึงตามมาและครั้งนี้หนักหนาสาหัสกว่าครั้งแรก เมื่อหัวเรือเรา เสียบทะลุดาดฟ้าชั้น2 ของเขา เป็นรูโบ๋อย่างน่ากลัวและเมื่อหลุดออกมาได้จากครั้งที่2 เขาเร่งเครื่องหนีอย่างสุดกำลัง ครั้งที่3 จึงไม่เกิดขึ้น แต่ก็ฉิวเฉียด

ผมยังนึกภาพไม่ออกว่า ถ้ามีครั้งที่3 เกิดขึ้นอีก ผลลัพธ์มันจะออกมายังไง!?...

ไต๋เอกลุกขึ้นไปสตาร์ทเครื่องยนต์ตั้งแต่โครมแรก เพื่อจะขยับเรือเราหลบบ้าง แต่ก็ขยับไปไหนไม่ทัน
เพราะเหตุการณ์มันเกิดขึ้นเร็วมากและจบเร็วมาก ไม่เกิน 5 นาที..

เรือลำนั้นเมื่อหนีหลุดออกไปได้ ก็ไปทิ้งสมอห่างจากเราไปไม่ต่ำกว่า 200 เมตร พร้อมกับความเสียหาย พอสมควร

หลังจากเหตุการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติ ไต๋เอกเข้านอน ส่วนผมกับช่างดำนั่ง คุยกันต่อ และนั่งหลับนกอยู่ตรงนั้น

ตีสี่กว่าๆ ช่างดำเรียกให้ผมไปดูนกที่ท้ายเรือ
ผมถามอย่างสงสัย “นกอะไร?”
“ไม่รู้จัก ตัวโตเท่าแม่ไก่ ไปแลเอาเอง” ช่างดำตอบผม

ผมนั้นขี้เกียจจะโดนฝน โดนลม แต่ก็ขัดไม่ได้ จึงค่อยๆลงจากห้องถือท้ายไต่ข้างกราบเรือไปที่ท้ายเรือ

เมื่อมาถึงหน้าห้องน้ำท้ายเรือ ก็เห็นนกตัวโตเท่าแม่ไก่อย่างที่ช่างดำบอก กำลังยืนนิ่งๆ เพราะความหมดแรงและขนเปียกโชก


นก "ซาปีไหน"นกประจำถิ่นเกาะสิมิลัน โดนพายุพัดมาติดอยู่ท้ายเรือ
มันเป็น “นกซาปีไหน” เป็นนกหาดูยาก เป็นนกประจำถิ่นในหมู่เกาะสิมิลัน ปกติค่อนข้างเชื่อง แต่ก็ไม่ยอมให้คนจับง่ายๆ นักท่องเที่ยวจำนวนไม่น้อย ที่มาเที่ยวเกาะสิมิลัน ปรารถนาจะได้เห็นพวกมันสักครั้งและถ่ายรูปไว้เป็นที่ระลึก แต่ก็ไม่สมปรารถนาทุกคนไป แต่เรือ ช.ชารีฎา ได้ต้อนรับมันท่ามกลางพายุ

ท่านผู้อ่านลองคิดเอาเองก็แล้วกันว่า พายุมันรุนแรงแค่ไหน ขนาดว่าเจ้าถิ่นอย่าง “นกซาปีไหน” ยังโดนพัดจนบินไม่เป็น!..


บินไม่ไหว ไปไม่ถูก
ผมถ่ายรูปไว้ได้หลายรูป แต่เมื่อพยายามจะจับมัน มันไม่ยอมให้จับ บินไปเกาะตรงโน้นที ตรงนั้นที จนผมละความพยายาม ปล่อยให้มันพักผ่อน

ผมรู้ว่ามันเหน็ดเหนื่อยมามากพอแล้ว เมื่อลมฝนบางเบาและมีกำลังพอ มันจะกลับไปหาครอบครัวของมันที่รอคอยอยู่บนเกาะ ขอให้โชคดี “ซาปีไหน”

ผมกลับไปที่ห้องถือท้ายด้วยความรู้สึกแปลกๆ และนั่งเงียบๆ..
จนกระทั่งประมาณ 6 โมงเช้า ไต๋เอก ลุกขึ้นมาที่หน้าจอจีพีเอส
ช่างดำ ไปเตรียมอาหารมื้อเช้าในครัวท้ายเรือ


เช้าวันที่ 29 มี.ค.54 ที่หลังเกาะสี่
เช้าวันนี้ ฝนลงเม็ดปรอยๆ ลมพัดเบาๆ คลื่นยังสูงอยู่พอสมควร ท้องฟ้ายังปิด มืดครึ้ม
ได้ยินเสียงพวกกัปตันเรือทัวร์พูดกันออกมาจากวิทยุเรือ ถึงพยากรณ์อากาศจากเว็บไซต์ว่า ตอนเช้าของวันนี้ แรงลมลดลง จนกว่าจะถึงเที่ยงวัน

แต่กรมอุตุฯประกาศว่า เช้าวันนี้ กระแสลมแรงและฝนตกหนัก แล้วพวกนั้นก็ยำใหญ่ กรมอุตุฯอีกครั้ง

หลังจากนั้นได้ยินเสียงพูดนัดแนะกัน ถึงเวลาที่จะออกเรือจากเกาะเพื่อแล่นกลับไปทับละมุ
โดยหลายลำทิ้งลูกทัวร์บางส่วนไว้บนเกาะ เพราะลูกทัวร์ กลัวเอาชีวิตออกไปสังเวยทะเลอันดามัน

แต่บางส่วนต้องจำใจเสี่ยง เพราะเลยกำหนดเวลากลับบ้านมาแล้ว...

“วันนี้ เราพอจะแล่นกลับได้ไหม?” ผมถามไต๋เอก
“กำลังดูอยู่ คิดว่าน่าจะพอแค่นไปได้ แต่ไม่รู้กลางทางจะเป็นพันปรือ!” ไต๋เอกตอบผมเรียบๆ
“ลูกทัวร์ทำท่าไม่ค่อยดี” ผมว่าต่อ
“สาว่าพันนั้นแหละ” ไต๋เอกพูดพร้อมกับหัวเราะหึ..หึ..
ช่างดำโผล่หน้าขึ้นมาที่ห้องถือท้าย แล้วถามไต๋เอก “เอากันพันปรือ?”

“บอกลูกทัวร์กินข้าวให้เสร็จก่อน” ไต๋เอกบอกกับช่างดำ

ช่างดำเดินกลับไปท้ายเรือ คงจะไปบอกลูกทัวร์ให้กินข้าว..

ขณะนั้น ผมสังเกตเห็น เรือหลายลำกำลังแล่นออกไป รวมทั้งเรือคู่กรณีย์ของเราลำนั้นด้วย


อยู่ไม่ไหว ต้องไปแล้ว
07.30 น. ไต๋เอกบอกให้ช่างดำกว้านสมอขึ้น แล้วบังคับเรือตั้งลำหันหัวไปทางทิศตะวันออกมุ่งหน้าสู่แผ่นดินใหญ่ ด้วยความเร็วเต็มกำลังที่มีอยู่

เมื่อเรือแล่นเลยหัวเกาะด้านใต้ของเกาะสี่ออกมาประมาณครึ่งชั่วโมง ก็เจอเข้ากับคลื่นหนักๆหยาบๆอีกครั้ง
ผมมองไปทางด้านหน้าเกาะสี่ ที่ซึ่งมีหาดสำหรับนักท่องเที่ยวเพียงหาดเดียว มีเรือทัวร์หลายลำกำลัง แล่นตามหลังกันออกมา ต่างมุ่งหน้าไปทางทับละมุเหมือนเรา


หน้าเกาะสี่ เช้าวันที่ 29 มี.ค.เรือหลายลำ กำลังมุ่งหน้าเข้าหาฝั่งแผ่นดินใหญ่
ได้ยินการคุยกันทางวิทยุว่ามีเรือทัวร์จม เมื่อตอนเช้ามืด แต่ฟังไม่ถนัดว่าจมบริเวณไหน และนักท่องเที่ยวเป็นอย่างไรบ้าง
เวลาสายขึ้นเรื่อยๆ ท้องฟ้าเพิ่มความมืดขึ้นเรื่อยๆ ลมแรงขึ้นเรื่อยๆ

กระทั่ง ประมาณ 10 โมง ฝนก็กระหน่ำลงมาพร้อมกับคลื่นแต่ละลูกความสูงไม่ต่ำกว่า 4 เมตร

ไต๋เอกต้องยืนถือพวงมาลัยตลอดเวลา เพื่อคอยมองซั้ง ที่อาจจะอยู่ในเส้นทาง ถ้าชนซั้งเข้าเมื่อไหร่ เชือกที่ผูกซั้ง จะพันใบจักรเรือ จบไม่สวยทันที


บนเส้นทางมุ่งหน้าเข้าหาฝั่งก่อน 10 โมงเช้า ยังไม่มีฝน แต่คลื่นไม่ต่ำจาก 3 เมตร
อีกอย่างต้องคอยมองคลื่นลูกใหญ่ๆ ที่โถมเข้าหาเรือ ซึ่งจะต้องเบาเครื่องยนต์ทันที ถ้าขืนไม่เบาเครื่องมีหวังเรือตีลังกาหงายท้องเป็นนักยิมนาสติก เทกระจาดทุกอย่างลงทะเล และไม่ต้องหวังว่าจะรอด

ช่วงก่อนเที่ยง ได้ยินวิทยุแจ้งต่อๆกันมาว่า มีคนจากเรือปั่นไฟพลัดตกทะเล เมื่อตอนหัวรุ่ง ขณะที่แล่นเข้าฝั่ง เพิ่งมารู้เอาเมื่อเรือถึงฝั่ง ถ้าหากเรือลำไหนเจอ ให้ช่วยเก็บไปส่งที่ฝั่งด้วย..

พวกนั้นพูดคำว่า “ช่วยเก็บ” จริงๆ ยังกับว่าเป็นของใช้อะไรสักอย่าง

ผมคิด..นี่ถ้าผมเกิดตกลงไปบ้าง พวกนั้นก็คงบอกกันว่าถ้าใครเจอ ขอให้ช่วยเก็บ(ศพ)ไปส่งที่ฝั่งด้วย เหมือนกัน..

เฮ้อ..ชีวิตในทะเล มีค่าแค่สิ่งของเครื่องใช้เท่านั้นเอง!.

ช่วงระยะเวลาไล่เลี่ย จากนั้น ได้ยินว่า ทางกองเรือภาคที่3 ได้ส่งเรือรบออกมารับนักท่องเที่ยว ที่ติดอยู่บนเกาะสิมิลันแล้ว แสดงว่า สถานการณ์จะต้องเลวร้ายมากกว่าที่เป็นอยู่แน่ๆ

ส่วนเราทั้ง 9 ชีวิต จะต้องฝ่าพายุอีกต่อไป อย่างไม่รู้ชะตากรรม และยังบอกไม่ได้ว่าจะต้องใช้เวลาอีกกี่ชั่วโมงจึงจะถึงฝั่ง หรือ..อาจจะไม่ถึง?..

เพราะเรือใช้ความเร็วได้เพียง 3 ไมล์ต่อชั่วโมงเท่านั้น และบางครั้งถึงกับถอยหลัง เป๋ออกนอกทิศทาง เมื่อโดนคลื่นลูกเท่าภูเขากระแทกเข้าใส่อย่างไม่ปราณี

ไม่มีใครได้กินข้าวเที่ยง เพราะไม่มีปัญญากิน เรา 3 คนไม่มีใครพูดคุยกัน..

นักล่ากลางพายุ ทั้ง 6 คน กลายเป็นผู้ถูกล่าไปแล้ว..ถูกล่าจากพายุหลงฤดู!?...


*** จบ ***
-----------------------------------------

วีดีโอ "ลุย ล่า กลางพายุ"


--------------------------------
เช่าเรือตกปลา ติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่..
คุณ ชำนาญ ชูสุวรรณ
โทร:089-6462682
E-mail:freestyletrip@gmail.com

24 ชั่วโมง

วันศุกร์ที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2554

ลุย ล่า กลางพายุ(ตอนแรก)





ไต๋เอก กับสาวน้อย เรือ ช.ชารีฎา พานักล่า "หลานย่าโม" จากดินแดนที่ราบสูง มุ่งหน้าฝ่าพายุสู่หมาย "ดอนใหม่" ทางตะวันตกเฉียงเหนือของหมู่เกาะสิมิลัน อันลือชื่อ ในวันที่พายุโหดโหมกระหน่ำอย่างไร้ความปราณี เพื่อให้นักล่าผู้กระหาย ได้ "ล่ากลางพายุ"

ทริปนี้ เป็นโปรแกรมตกปลา 3 วัน 2 คืน โดยผู้จองระบุว่าต้องการออกเรือจากท่าเรือทับละมุ ซึ่งผู้เขียนเป็นคนรับบุ๊คกิ้งไว้ตั้งแต่ต้นเดือนกุมภาพันธ์ จึงได้ร่วมทริปไปด้วย

07.30 น.เช้าวันที่ 26 มีนาคม 54 ผมออกจากบ้านที่ในตัวเมืองภูเก็ต ขณะที่ฝนยังตกพรำๆ ติดต่อมาตั้งแต่ย่ำรุ่ง เดินทางไปยังท่าเรือทับละมุ ติดกับฐานทัพเรือ กองเรือภาคที่3 ตำบลลำแก่น อำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา ประมาณ 10 กิโลเมตร ก่อนจะถึงหาดเขาหลัก ที่มีอนุสาวรีย์เรือตำรวจน้ำตั้งอยู่บนบก เมื่อครั้งเกิดคลื่นยักษ์สึนามิ ในปี 2547

ก่อน 10 โมงเช้า ผมมาถึงท่าเรือทับละมุ ในขณะที่ไต๋เอกกับช่างดำ กำลังดูแลการลงน้ำจืดสำรอง สำหรับไว้ใช้ในเรือ และตรวจสอบอุปกรณ์เครื่องใช้ไม้สอยต่างๆ เตรียมความพร้อมก่อนออกทะเล

ส่วนนักล่าทุกคนพร้อมรอเวลาออกล่า ด้วยความมุ่งหวังเต็มเปี่ยม



โฉมหน้านักล่าทั้ง 6 จากดินแดนที่ราบสูง

 10.30 น.ไต๋เอก นำเรือออกจากท่า อย่างอ้อยสร้อย นำนักล่าทั้ง 6 คน รวมกับผู้เขียน ช่างดำและไต๋เอก ทั้งหมด 9 ชีวิต มุ่งหน้าออกปากอ่าวทับละมุ ภายใต้ท้องฟ้ามืดครึ้ม

ก่อนถึงปากอ่าวเล็กน้อย ไต๋เอก ไหว้แม่ย่านางด้วยไก่นึ่งทั้งตัว ช่างดำ จุดปะทัด 100 นัด อันเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของชาวเรือ ก่อนออกทะเลจับปลา

บรรยากาสอึมครึม ขณะเรือแล่นออกจากท่า

ขณะที่เรือกำลังแล่นอยู่ในคลอง เหล่านักล่า ทะยอยนำคันเบ็ด ขนาดต่างๆ ออกมาจัดเสียบไว้ในช่องพักคันเบ็ดรอบๆลำเรือและช่องพักคันเบ็ดบนหลังคาท้ายเรือ เตรียมพร้อมสำหรับ นำออกมาใช้งานได้ทุกเวลา ซึ่งแต่ละคนนำมาไม่ต่ำกว่าคนละ 10 คัน แต่ละคันราคาน่าจะค่อนข้างสูง เพราะยี่ห้อดังๆทั้งนั้น




ผมมองคันเบ็ดทั้งหมดแล้ว ประเมินว่า ถ้าเจ้าของร้านขายคันเบ็ดตกปลาในเมืองภูเก็ตบางร้าน มาเห็นเข้า คงจะรีบกลับไปเลิกกิจการแน่ๆ
   
***หลังจากจัดการเอาคันเบ็ดเข้าช่องพักเสร็จสรรพ ต่อจากนั้นเป็นการเตรียมเบ็ด เตรียมเหยื่อ เพื่อความพร้อมในการล่า

เมื่อเรือออกมาจากปากอ่าว แล่นออกสู่ทะเล ไต๋เอก ตั้งเข็มมุ่งตรงไปยังเกาะ1 (เกาะหูยง) ในจำนวน 9 เกาะ ของหมู่เกาะสิมิลัน(แปลว่าเก้าจากภาษามาลายูหรือยาวี) ในทะเลอันดามัน ฝั่งตะวันตก ภาคใต้ ของประเทศไทย


มุ่งหน้าเข้าสู่ความทะมึน

 ***2 ชั่วโมงแรกบนเส้นทาง ท้องฟ้ามืดทะมึนหนักอึ้งด้วยเมฆฝน ลมพัดอ่อนๆ แต่ทะเลยังราบเรียบ ไต๋เอก ใช้ความเร็วประมาณ 5 ไมล์ทะเล ต่อ 1 ชั่วโมง เพื่อให้นักล่า ลากเหยื่อป๊อป(popper) และเหยื่อจิ๊ก(jigging) ล่อปลาผิวน้ำบางประเภท เป็นการ วอร์มอั๊พและเรียกน้ำย่อย





*** แล้วก็ไม่ผิดหวัง เมื่อมีปลาโอดำ ซึ่งจัดอยู่ในตระกูลปลาทูน่า ขนาดน้ำหนักตัว ตั้งแต่ครึ่งกิโลกรัมขึ้นไป หลงเข้ามางาบเหยื่อปลอม คันละตัว สองตัว สร้างความเร้าใจให้กับนักล่าทั้ง 6 คน ในการออกล่าทริปนี้


ห้องนอนไต๋เอก
***ช่วงเวลาที่เรือกำลังแล่น ผมรู้สึกผิดสังเกตุว่าทำไม? ตลอดเส้นทางที่เราไป จึงไม่มีเรือทัวร์หรือเรืออวนลาก ให้เห็นแม้แต่ลำเดียว

แต่มาคิดอีกที่ว่า คงไม่ใช่เป็นช่วงเวลาและเส้นทางของเรือเหล่านั้นก็เป็นได้ จึงไม่ได้สนใจอีกต่อไปและฆ่าเวลาโดยการนอนดูหนังวีดีโอ หลับๆตื่นๆ ในห้องนอนของไต๋เอก จบไป 2 เรื่อง

***จนกระทั่ง ประมาณ 5 โมงเย็น เรามาถึงหมายแรก ทางด้านทิศใต้ของเกาะ1(หูยง)
 
เกาะหูยง(เกาะ1)
  ***ไต๋เอกเบาเครื่องยนต์ลอยลำ ให้สัญญาณนักล่าทั้งหลาย ลงมือปฏิบัติการ ท่ามกลางสายฝนพรำ
 
เหยื่อจิ๊ก(jigging)

 *** นักล่าทั้ง 6 ซึ่งเตรียมพร้อมอยู่แล้ว ทะยอยตีป๊อปบ้าง เหวี่ยงจิ๊กบ้าง ไปยัง "หมาย" ตามถนัดของแต่ละคน
 
เหยื่อป๊อป(popper)
   


 ***และจากการตีครั้งที่ 3 ของมือตีป๊อป ระดับเทพ คันหนึ่ง ภายในเวลาไม่เกิน 5 นาที ก็ได้เย่อกะมงพร้าว น้ำหนักประมาณ 8 กิโลกรัม ขึ้นมาอย่างง่ายดาย เป็นการประเดิมการล่าของทริป ที่ทำให้นักล่าทุกคน มีความหวังและกำลังใจที่จะล่าท่ามกลางพายุ


กะมงพร้าวตัวแรกของทริป

ต่อจากนั้น ตัวที่2 ที่3 หลากหลายพันธ์ปลา จากป๊อปบ้าง จิ๊กบ้าง ก็ตามมาเป็นลำดับ
ทั้งไซต์เล็ก ไซต์ใหญ่ เย่อกันภายใต้บรรยากาศอึมครึม ฝนตกพรำๆ

กระทั่งความมืดเริ่มคลี่คลุมลงมา ไต๋เอกบอกให้นักล่าเก็บเบ็ด เพื่อย้ายไปยัง "หมาย" ที่เหมาะสมกับการล่าในเวลากลางคืน ซึ่งเป็นปลาหน้าดิน

ส่วนช่างดำ ผู้เป็นช่างทุกเรื่อง ตั้งแต่ช่างเครื่องยนต์ ช่างระบบไฟ ช่างซ่อมแซม ทิ้งสมอ ถอนสมอ ถือท้ายเรือ เตรียมเหยื่อสดให้นักล่า กระทั่งเป็นจุมโพ่(พ่อครัวทำกับข้าว) เริ่มลงมือหุงข้าว ทำอาหารมื้อค่ำ สำหรับพวกเราทุกคน

จากหมายเดิม ไต๋เอก นำเรือสาวน้อย ช.ชารีฎา คู่ชีพ ลงไปทางทิศใต้ โดยการใช้อุปกรณ์อีเล็คทรอนิค เป็นเครื่องนำทางและบอกตำแหน่ง "หมาย" เพื่อความสะดวก รวดเร็วและแม่นยำ

จอซ้ายมือเป็นซาวเดอร์ ขวามือเป็นจีพีเอส

อุปกรณ์อีเล็คทรอนิคประกอบด้วยเครื่อง จีพีเอส. มีจอมอนิเตอร์แสดงเส้นรุ้ง เส้นแวง แสดงทิศเหนือ-ใต้ แสดงตำแหน่งของเกาะต่างๆ แสดงตำแหน่งพิกัดที่เรือกำลังอยู่ แสดงทิศทางที่เรือกำลังแล่นไปและยังแสดงความเร็วของเรือเป็นไมล์ต่อชั่วโมงด้วย

ส่วนเครื่องซาวเดอร์ มีจอมอนิเตอร์ แสดงพื้นผิวภูมิประเทศใต้น้ำ แสดงความลึกของระดับน้ำและแสดงสิ่งมีชีวิตที่อยู่ใต้ผิวน้ำ (ในภาษาชาวเรือเรียกกันว่า "เชื้อปลา") เพื่อช่วยในการตัดสินใจของไต๋ ในการกำหนด "หมาย" ให้มีประสิทธิภาพแน่นอน แม่นยำขึ้น

ซาวเดอร์และจีพีเอส ขณะเดินเรือในเวลากลางคืน
 จากหมายเดิมออกมาประมาณ ครึ่งชั่วโมง ขณะที่นักล่ากำลังล้อมวงกินอาหารค่ำ
ลมและฝนเริ่มกระหน่ำลงมาอย่างหนักหน่วงรุนแรง พร้อมกับคลื่นสูงประมาณ 2-3 เมตร
ไต๋เอกประคองเรือไปด้วยความเร็วไม่เกิน 3 ไมล์ต่อชั่วโมง นำทางด้วยจีพีเอส

ประมาณ 4 ทุ่มครึ่ง กระทั่งหน้าจอซาวเดอร์ แสดง "เชื้อปลา" หนาแน่นขึ้น แสดงระดับความลึกของน้ำอยู่ที่ 60-70 เมตร
ไต๋เอกจึงได้หยุดใบพัด ชะลอเรือและบอกให้ช่างดำ ทิ้งสมอ ดับเครื่องยนต์ เดินเครื่องปั่นไฟ

ช่างดำทิ้งสมอเสร็จเรียบร้อย ขณะที่ลม ฝน คลื่น กระหน่ำเข้ามาหนักขึ้นและต่อเนื่อง
ช่วงเวลานั้นปรากฏว่า นักล่าสลบสไลกันหมดทุกคน หลังจากหนังท้องตึง ประกอบกับความเหน็ดเหนื่อยอ่อนล้ามาร่วม 10 ชั่วโมง

เรา 3 คน หมายถึงผม ไต๋เอก ช่างดำ จึงได้จัดการกับอาหารมื้อค่ำ ด้วยความทุลักทุเล บนความโคลงเคลง โยกเยกของเรือ

หลังจากอาหารค่ำ ไต๋เอกขอเข้านอนก่อน เหลือช่างดำเข้าเวรดูแลความเรียบร้อยทั่วไป โดยมีผมนั่งคุยเป็นเพื่อน

ประมาณเที่ยงคืน ลม ฝนเริ่มเบาบาง แต่คลื่นยังรุนแรงและดูเหมือนจะหนักกว่าเดิม
ช่างดำ ลงจากห้องถือท้ายเดินหายไปทางท้ายเรือ ปล่อยให้ผมนั่งสัปหงกอยู่ในห้องถือท้ายคนเดียว

เวลาผ่านไปมากน้อยเท่าไหร่ ไม่แน่ใจ ผมได้ยินเสียงโหวกเหวกของช่างดำมาจากทางท้ายเรือ
แว่วว่าให้ผมรีบไปที่ท้ายเรือ เร็วๆ...

ผมสะดุ้งยึก ประสาทตื่นตัวเต็มที่ เพราะไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น..
รีบลงจากเก๋งดิ่งไปท้ายเรือ เมื่อถึงท้ายเรือ เห็นช่างดำถือสายเบ็ดคู่
โดยมีปลาหัวเสี้ยม ดิ้นกะเด่วๆติดอยู่ที่เบ็ด 2 ตัว พร้อมกับบอกให้ผมถ่ายรูป

หัวเสี้ยม 2 ตัวแรก ณ.หมายที่สอง จากการตกด้วยสายมือของช่างดำ

ผมไม่รอช้า กดฉับๆเข้า 3 ฉับ ช่างดำจึงได้ปลดปลาออกจากเบ็ด
ต่อจากนั้นจึงไปทะยอยปลุกนักล่า
บอกว่า "ฝนหยุดตกแล้วครับและมีปลากินเบ็ดด้วย ถ้าใครจะตกก็ลงมือได้เลย"

และแล้ว..หลังจากนั้นไม่กี่นาทีต่อมา มหกรรมการเย่อก็เริ่มขึ้นอย่างโกลาหล










ตัวที่ 1 ตัวที่ 2 ตัวที่ 3..ทะยอยเย่อขึ้นมา.ผมเก็บภาพนิ่งและถ่ายวีดีโอ
กระทั่งประมาณตี 2 ลม ฝน กระหน่ำลงมาอย่างหนักหน่วงอีกครั้ง
ผมจึงหลบเข้าไปนอนในห้องถือท้ายและหลับไปด้วยความเพลีย

***ผมตื่นขึ้นมาอีกที ดูเวลาตี 5 กว่านิดหน่อย ฝนยังตกปรอยๆ ช่างดำนั่งหลับอยู่หลังพังงาเรือ(พวงมาลัยเรือ) มองออกไปภายนอกเก๋ง ไม่เห็นนักล่า
ผมลงไปท้ายเรือ ล้างหน้า แปรงฟัน(น้ำไม่อาบ ฮ้า..) เข้าห้องน้ำ กินกาแฟ

...6 โมงเช้า ท้องฟ้าปิด ลมเบาๆ ฝนปรอยๆ คลื่นยังแรง
...ช่างดำต้มข้าวต้ม เป็นอาหารเช้า
...ไต๋เอกตื่น
...นักล่าทะยอยตื่น
...7 โมงครึ่ง ทุกคนกินข้าวต้ม
...8 โมงครึ่ง เช้าวันที่ 27 มีนาคม 54 ท้องฟ้ายังปิดสนิทเหมือนเดิม
ไต่เอกบอกกับทุกคนว่า "เราจะไป หมายดอนใหม่ กันตอนนี้ เตรียมตัวด้วย"
คำว่า "หมายดอนใหม่" ทำให้ทุกคนตื่นตัวจากอาการหนังท้องตึง หนังตาหย่อนทันที เพราะนั่นคือ ความปราถนาของนักล่าทุกคน ที่จะไปให้ถึงโดยเร็ว

***หมาย "ดอนใหม่" อยู่ทางด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือของหมู่เกาะสิมิลัน ห่างออกไปประมาณ 18 ไมล์ทะเล ในร่องน้ำสากล ไหล่ทวีป ที่ความลึกตั้งแต่ 200 เมตรลงไป มีลักษณะเป็นกลุ่มภูเขาหินใต้น้ำ เป็นแหล่งที่มีปลาน้ำลึกชุกชุม เป็นที่รู้จักกันดีในหมู่นักตกปลาชาวไทยและชาวต่างประเทศ

***ช่างดำ ถอนสมอ, ไต๋เอก ตั้งเข็มไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ใช้ความเร็ว 5 ไมล์ต่อชั่วโมง
แล่นผ่านไปทางด้านทิศตะวันตกของเกาะสิมิลัน ขณะที่ท้องฟ้าเพิ่มสีเทาเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ

เกาะ4 (เกาะเมี่ยง) มองจากเรือไปทางทิศตะวันออก

ท่ามกลางท้องฟ้ามืดครึ้มสีเทาเข้มข้น ฝนตกหนักบ้าง เบาบ้าง เป็นระยะ ลมพัดกระโชกแรงขึ้น คลื่นแรงขึ้น ตามระยะห่างจากแผ่นดินออกไปสู่ร่องน้ำลึก ไหล่ทวีป ระดับความลึกของน้ำ ตั้งแต่ 200 เมตรลงไป

2 ชั่วโมงผ่านไป พวกเราเริ่มเห็นฝูงปลาโลมาฝูงใหญ่ ไม่ต่ำจากร้อยตัว หลายตัวกระโดดลอยตัวขึ้นเหนือผิวน้ำ บ้างว่ายนำหน้าเรือ บ้างว่ายตีขนาบทั้งสองข้างลำเรือ ดูสับสนวุ่นวาย คล้ายกับว่าจะมาหยอกล้อทักทาย พวกมนุษย์กิเลสหนา ทั้ง 9 คน บนลำเรือ.

***แต่ความเชื่อของนักเดินเรือและชาวประมง ตั้งแต่โบราณกาล เชื่อกันว่าถ้าเห็นฝูงปลาโลมา ว่ายน้ำโลดแล่นตามเรือเมื่อไหร่ ให้ระวัง พายุใหญ่กำลังจะมา!...จริงเท็จประการใด ผู้เขียนไม่กล้ายืนยัน

มุ่งหน้าสู่หมาย "ดอนใหม่"ห่างออกไปจากหมู่เกาะสิมิลัน อีก 18 ไมล์

***เวลาแต่ละนาที แต่ละชั่วโมงผ่านไปอย่างเชื่องช้า ชั่วโมงที่หนึ่ง..ชั่วโมงที่สอง..ชั่วโมงที่สาม..
ผ่านไป กระทั่งเกือบเที่ยงวัน ทุกคนมองเห็นทุ่นโฟม 2 ลูกใหญ่ ลอยเล่นคลื่นอยู่ทางด้านหัวเรือ
ห่างออกไปไม่มากนัก เป็น ซั้ง หรือปะการังเทียม ซึ่งยังไม่รู้ว่าเจ้าของคือใคร?..
แต่..นั่นหมายความว่า.."ดอนไหม่" มีเจ้าของแล้ว!..
เรือลำไหน จะเข้าไปทิ้งสมอผลีผลามไม่ได้ อาจจะมีปัญหา เมื่อเจ้าของมาเห็นเข้า!..

***ทะเลไทย ใครบอกว่า จับจองเป็นเจ้าของไม่ได้!?...

"ถึงแล้วดอนใหม่ เตรียมตัวได้" ไต๋เอก ตะโกนบอกนักล่า แข่งกับเสียงคลื่น ลม
ซึ่งไม่มีทีท่าว่าจะเบาบางลง

ลักษณะของซั้งใต้พื้นผิวน้ำ


ซั้ง คือปะการังเทียมพื้นบ้าน (Imitation Reef) สร้างด้วยการนำไม้ไผ่มาตัดเป็นท่อน แล้วใช้เชือกผูกติดกับใบหรือทางมะพร้าว ถ่วงด้วยแท่งคอนกรีตขนาดใหญ่ หรือผูกติดกับโขดหินใต้น้ำ แล้วโยงกับวัสดุที่ลอยน้ำได้เช่นแท่งโฟม เพื่อให้ปลาเข้าอาศัย ซึ่งจะ สร้างไว้ตามจุดที่มีปลาชุกชุม



***ไต๋เอกบังคับเรือแล่นวนรอบๆซั้ง พยายามหาจังหวะนำเรือเข้าไปผูกเชือกกับซั้งหลายครั้ง
แต่ก็ทำไม่ได้ เพราะความแรงของคลื่น กระแทกเรือออกนอกเป้าหมายทุกครั้ง
จนต้องละความพยามยาม ได้แต่ชะลอเครื่องลอยลำอยู่ห่างๆ
แล้วบอกให้ทุกคนลงมือล่าตามถนัด



ท่ามกลางสายฝน กระแสลมและคลื่นความสูงไม่ต่ำกว่า 3 เมตร ที่โหมเข้ามาตลอดเวลา
ไม่ได้ทำให้นักล่า ย่อท้อ มีแต่จะฮึกเหิม คึกคะนอง กับปฏิบัติการ "ล่ากลางพายุ" อย่างมุ่งมั่น



จากการตีป๊อป ฝีมือระดับเทพ ของนักล่าคนนั้น เพียงแค่ฟาดออกไปครั้งเดียว
กะมงพร้าวตัวแรกจาก "ดอนใหม่" ก็ตามสายเบ็ดขึ้นมาบนเรืออย่างง่ายดาย


นักล่าอีกคน เย่อสีทอง ตามขึ้นมาติดๆ จากเหยื่อสด

และอีกตัวเป็น กะมงแส้ จากเหยื่อสดเช่นกัน
บรรยากาศมีแต่ความฮึกเหิม ไม่มีใครสนใจ คลื่น ลมและฝน ที่ทวีกำลังรุนแรงขึ้นทุกขณะ
ทุกคนเปียกโชก รวมทั้งผมด้วย ที่ต้องคอยเก็บภาพและถ่ายวีดีโอ

การล่ากลางพายุ ดำเนินต่อไป การหลุดและขาด เกิดถี่ขึ้น
เพราะความล้าของนักล่า
จากการเย่อปลาขึ้นจากน้ำลึกกว่า 180 เมตรและยังต้องใช้กำลังต้านแรงเหวี่ยงของเรือ



ในที่สุดต้องเปลี่ยนมาเป็นรอกไฟฟ้ากับเหยื่อสด เพื่อล่าปลาน้ำลึกหน้าดิน



รอกไฟฟ้า 2 ตัวทำงานอย่างสมศักดิ์ศรีกับระดับความลึกของน้ำเกิน 180 เมตร
และกระแสน้ำเชี่ยวกราก ที่ต้องใช้ลูกถ่วงน้ำหนักถึง 3 กิโลกรัม


กับความลึกระดับนั้น ความเชี่ยวของน้ำประมาณนั้นลูกถ่วงตะกั่ว ช่วยไม่ได้เลย
เหล็กข้ออ้อย ตัดเป็นท่อน 2 ท่อน เอามามัดติดกัน รวมน้ำหนัก 3 กิโลกรัม
จึงมีบทบาท โดดเด่น ตลอดรายการล่าน้ำลึก


และปลาน้ำลึกรูปร่าง หน้าตาน่ากลัว ก็ถูกงัดขึ้นมาบนเรือ
มันชื่อ "หมาไน" ซึ่งน้อยคนจะได้เห็นมัน



ตามมาด้วย "ช่อนทะเล" จากผลงานของรอกไฟฟ้า 1 ใน 2 ลูกนั้น

ไต๋เอก บังคับเรือลอยลำวนเวียน โต้คลื่นอยู่บริเวณ "ดอนใหม่" จนเวลาเกือบ 5 โมงเย็น
คลื่นลมแรงขึ้นทุกขณะ  ดูทีท่านักล่าทุกคนเริ่มล้าและอ่อนแรง
จึงได้บอกทุกคนให้เก็บเบ็ดและกินข้าวค่ำที่ช่างดำจัดเตรียมไว้เรียบร้อยแล้ว

พร้อมกับบอกว่า คืนนี้จะไปทิ้งสมอ ที่หมาย "หลังเกาะบัว" ซึ่งห่างออกไปทางด้าน
ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ประมาณ 4 ชั่วโมง ที่นั่นน้ำไม่ลึกมากนัก
พอจะทิ้งสมอหลบคลื่นลมได้และที่สำคัญ มีปลาหลากหลายประเภทให้ได้เย่อด้วย

ทุกคนเห็นดีด้วย เพราะการอยู่กลางหาวกับสภาวะอากาศอย่างในขณะนี้ ไม่ใช่ความคิดที่ดีแน่

ไต๋เอก ตั้งเข็มมุ่งตะวันออกเฉียงเหนือ แล่นทวนกระแสลมและความสูงของคลื่นไม่ต่ำกว่า 3 เมตร
ส่วนผมหลังจากจัดการกับข้าวค่ำแล้ว ขึ้นมานั่งในห้องถือท้ายเป็นเพื่อนช่างดำ ผู้มารับหน้าที่ถือท้าย
แทนไต๋เอก ทีได้เวลาไปกินข้าวบ้าง เมื่อเวลา 2 ทุ่ม

ประมาณครึ่งชั่วโมงต่อมา ผมก็เข้าไปนอนที่หลังห้องถือท้าย หลับๆตื่นๆ
กระทั่งสะดุ้งตื่นลุกขึ้นนั่งพรวดพราด เมื่อรู้สึกเรือเอียงวูบใหญ่ เสียงเครื่องยนต์เบาลงกระทันหัน พร้อมกับเสียงน้ำดังซ่าหนักๆ บนดาดฟ้าหน้าห้องถือท้าย
ผมมองไปที่ห้องถือท้าย เห็นไต๋เอกออกกำลังดึงรั้งพังงาเรือด้วยสีหน้าเครียดๆ

"เกิดอะไรขึ้น?" ผมถามไต๋เอกพอได้ยิน
"เลี้ยวหัวกลับ พอดีขวางคลื่น" ไต๋เอกตอบโดยไม่ได้หันมามองผม

ผมดูนาฬิกาที่ข้อมือ เกือบ 5 ทุ่ม เกินกำหนดเวลาที่จะถึงหมาย "หลังเกาะบัว" มาพอสมควร
และสงสัยว่า ไต๋เอกเลี้ยวหัวกลับไปไหน?

"กลับไปไหน?" ผมถามไต๋เอก อย่างอดทนสงสัยไม่ได้
"กลับไปหลบลมที่เกาะเก้า เดินหน้าไม่ไหวลมแข็งเหลือเกิน" ไต๋เอกตอบผมเรียบๆ
"อีกนานไหม?"
"ประมาณ 4 ชั่วโมง"
ผมมีความรู้สึกเหมือนลำใส้ใหญ่ขึ้นมาจุกอยู่ที่คอหอย เมื่อได้ยินเสียงคำตอบจากไต๋เอก
ความหนาวไม่รู้มาจากไหน วูบเข้าไปถึงหัวใจ จนสะท้าน..

อีก 4 ชั่วโมง กับการแล่นขวางคลื่นไปในความมืดมิดมองไม่เห็นอะไรรอบทิศทาง ภายใต้สภาพคลื่นลมฝน โหมกระหน่ำเข้าใส่อย่างบ้าคลั่ง!?..ผมไม่อยากคิดอีกต่อไป..
ลุกขึ้นมานั่งจุดบุหรี่สูบด้านหลังไต๋เอก มองออกไปในความมืดมิดด้านนอก
สงบจิตใจ อะไรจะเกิดก็ให้มันเกิด เมื่อครั้งก่อนรอดมาจากช่องแคบมะละกาได้ จะมาจบที่นี่ก็ให้มันรู้ไป...

นักล่าทุกคนหลับกันหมด แม้กระทั่งช่างดำ ที่นับว่าเป็นคนนอนน้อยที่สุดและตื่นไวที่สุด จึงดูเหมือนกับว่ามีเพียงผมกับไต๋เอกและเรือ ช.ชารีฎา เท่านั้น ที่ต่อสู้อยู่กับพายุบ้าในทะเลอันดามัน


เราสองคน คุยกันน้อยคำ ต่างคนต่างคิด ต่างคนต่างจินตนาการ
ไต๋เอก เครียดที่มองทะเลไม่เห็น บางครั้งถึงกับต้องปิดไฟทั้งลำเรือ

ส่วนผมสูบบุหรี่เกือบจะมวนต่อมวน เหลือบตาดูหน้าจอจีพีเอส.บ่อยครั้ง ซึ่งการดูแต่ละครั้งมีความรู้สึกเหมือนกับว่า เรือยังอยู่ที่เดิม ไม่ได้แล่นคืบหน้าไปไหนเลย

ฝนยังตกหนักตลอดเวลาเหมือนกับว่า จะตกให้หมดภายในคืนนี้คืนเดียว ลมพัดด้วยความเร็วอย่างน้อย 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง คลื่นแต่ละลูกสูงไม่ต่ำจาก 4 เมตร

เวลาผ่านไปอย่างเชื่องช้า จากห้าทุ่ม เป็นตีหนึ่ง..ตีสอง ..ตีสองครึ่ง..เริ่มเห็นเกาะเก้า เป็นเงารางๆ ด้านหน้าหัวเรือ ผมเริ่มใจชื้น ประสาททุกส่วนผ่อนคลายลงบ้าง สำนึกว่ายังไม่ถึงเวลาตาย

กระทั่งตีสาม เรามาถึงเกาะเก้า แต่หาช่องว่างทิ้งสมอไม่ได้ มันเต็มไปด้วยเรือ ที่มาทิ้งสมอหลบพายุก่อนหน้าเรา

ไต๋เอก ตัดสินใจเดินหน้าต่อ มุ่งไปยังเกาะแปด(เกาะสิมิลัน) ซึ่งห่างออกไปทางใต้อีกไม่มากนัก

ตีสามครึ่ง เรามาถึงด้านทิศตะวันตก ตรงกลางๆของเกาะแปด มีเรือทิ้งสมออยู่ก่อน น่าจะมีจำนวนมากกว่าที่เกาะเก้า ซึ่งพอมองเห็นได้จากแสงไฟของเรือ

ไต๋เอก เรียกช่างดำให้ลุกขึ้นมาทิ้งสมอ บริเวณที่ว่างห่างจากเรือลำอื่นๆไม่มาก ซึ่งค่อนข้างจะอันตราย หากสมอกาวหรือสมอยึดเกาะไม่ติดพื้นผิวดินใต้น้ำ แต่เป็นตำแหน่งที่พอจะหลบลมและคลื่นได้บ้าง ซึ่งยังดีกว่าการแล่นท้าทายอยู่กลางหาวและสถานการณ์เวลานี้ก็ไม่มีทางเลือก

ช่างดำลงไปดับเครื่องยนต์วิ่งที่ห้องเครื่อง สตาร์ทเครื่องปั่นไฟแทน แล้วกลับขึ้นมานั่งเข้าเวรในห้องถือท้าย ให้ไต๋เอกเข้านอน ส่วนผมนั่งหลับนก เป็นเพื่อนช่างดำอยู่ในห้องถือท้ายนั่นด้วย

สะดุ้งตื่นจากหลับนก เมื่อได้ยินเสียงช่างดำร้องโวยวายอยู่หัวเรือ

ผมรีบลุกขึ้นชะโงกหน้าออกไปจากห้องถือท้าย เห็นเรือประมงปั่นไฟสำหรับล่อปลาลำหนึ่ง กำลังลอยขวางลำตรงเข้ามาทางหัวเรือของเราอย่างรวดเร็ว ห่างไม่เกิน 20 เมตร

ช่างดำหยิบขวดเครื่องดื่มชูกำลังที่กลิ้งอยู่ใกล้ๆ เขวี้ยงไปที่เก๋งเรือลำนั้น

ได้ยินเสียง “เพล้ง”

พร้อมๆกับเสียงร้องตะโกนของคนมาจากเรือลำนั้น “ใจเย็นๆลูกพี่ ผมอยู่คนเดียว เอาไม่ทัน!.”

ต่อจากนั้น ได้ยินเสียงสตาร์ทเครื่องยนต์ แล้วเรือลำนั้น ค่อยๆขยับห่างออกไปทีละนิดๆ จนพ้นจากระยะอันตราย

“แม่ง..หลับอยู่ได้ยังไง ปล่อยให้สมอกาวมาเกือบชนเรา แต่ก็โทษไม่ได้ มันอยู่คนเดียว” ช่างดำกลับขึ้นมายืนบ่นอย่างหัวเสียในห้องถือท้าย เสื้อผ้าเนื้อตัวเปียกม่อลอกม่อแลก..

---------------------------------
วีดีโอ "ล่าฝ่าพายุ"


-------------------------------

คอยติดตามตอนที่2 เร็วๆนี้

สำหรับผู้ที่สนใจ ทัวร์ตกปลาอันดามันและจองเรือตกปลา

ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ คุณ ชำนาญ ชูสุวรรณ
โทร : 089-6462682
หรือ e-mail : freestyletrip@gmail.com